Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (14)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (2)

เหงียนอายกว็อก หรือ โฮจิมินห์ เดินทางด้วยเรือจากฮ่องกงกลับมากรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายซุง และได้นัดพบกับผู้นำคณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนในสยาม

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล

ในการกล่าวถึง การเกิดขึ้นและล่มสลายของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นั้น จำเป็นต้องนำเสนอลำดับพัฒนาการการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยพอเป็นสังเขป:

ในที่สุดการปฏิวัติประชาธิปไตยในจีนที่นำโดยสาย "ลัทธิไตรราษฎร์" ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวชาตินิยมของชาวจีนในสยามที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงของแมนจู ก่อตั้งการปกครองของชาวฮั่นซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ของจีน ทั้งนี้โดยการเสนอระบอบรัฐประชาธิปไตยที่เป็นสาะรณรัฐ เนื่องจากประชาชนจีนเสื่อมศรัทธาการปกครองรูปแบบอาณาจักรจีนแบบเก่า ที่ประชาชนยากจนค่นแค้น ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในสังคมดั้งเดิม ราษฎรจำนวนมากถึงกับต้องขายลูกไปอยู่ในปกครองของคนชั้นสูงที่มั่งมีศรีสุข ส่วนหนึ่งหวังว่าลูกๆของตนจะไม่อดตาย มีที่พึ่งพิง แม้จะต้องไปตกอยู่ในสภาพข้าทาส/บ่าวไพร่ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงแต่อย่างใด แม้กระทั่งในชีวิตของตน

นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนไหวภายในประเทศจีนอีกสายหนึ่งคือ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนใหม่ปี พ.ศ. 2464 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาธิปไตย โดยที่มีความเห็นแตกแยกกันมากมายหลายกลุ่ม หลายก๊กในหมู่ประชาชนจีน แม้ว่าจะมีเป้าหมายร่วมกันในการ "โค่นราชวงศ์ชิง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายผู้นำเก่าที่ยังนิยมในระบอบราชาธิปไตยอยู่ ยังเสนอคำขวัญ "โค่นชิง ฟื้นหมิง" แต่ ดร.ซุนยัตเซน และ พรรคก๊กมินตั๋ง (ในเวลาต่อมา) ไม่เห็นด้วยโดยพิจารณาว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง รวมทั้งกลุ่มก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็มองเห็นว่าสังคมและรูปแบบการปกครองควรไปพ้นระบอบราชาธิปไตยแล้ว

สำหรับในสยามเอง มีการเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มต้นในเวลาไล่เลี่ยกับสายชาตินิยม โดยสมาชิกส่วนหนึ่งที่เข้ามาจัดตั้งในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล (ชาวจีนที่อพยพออกไปตั้งรกรากในต่างแดน) และขยายสู่สยามและเอเชียอาคเณย์ ทั้งนี้ เป้าหมายขั้นต้นคือ จัดตั้งชาวจีนในสยามเพื่อเข้าร่วมหรือสนับสนุนด้านเศรษฐกิจต่อการปฏิวัติสังคมนิยม (ในเวลาต่อมา เมื่อ เหมาเจ๋อตง มีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามญี่ปุ่น จึงเสนอเป้าหมาย "ปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่")

(ขอบคุณเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสยามสู่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย; เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์; ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต)

ในปี พ.ศ. 2469 ได้ปรากฏองค์กรลัทธิมาร์กซในหมู่คนจีนในสยามชัดเจนขึ้น เช่น พรรคชาวจีนโพ้นทะเล, พรรคปฏิวัติใต้ดิน, องค์กรปฏิวัติฝ่ายซ้ายหัวเฉียว, องค์การชาวจีนโพ้นทะเลก้าวหน้าในสยาม และ องค์การปฏิวัติรักชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การปราบปรามคอมมิวนิสต์ของเจียงไคเช็คในปี พ.ศ. 2470 ได้ทำให้ชาวคอมมิวนิสต์ลี้ภัยมาอยู่ในสยามมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2470 มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาสยาม 11 คน ในปี พ.ศ. 2471 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาสยามอีก 16 คน และปี พ.ศ. 2472 เข้ามาอีก 4 คน โดยคนเหล่านี้ได้ประสานงานกับ เฉินจว๋อจือ ผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็ทำให้การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในหมู่ชาวจีนในประเทศสยามจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย

ในปี พ.ศ. 2471 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตั้งสาขาพรรคขึ้นในเอเชียอาคเนย์ที่กรุงสิงคโปร์ เมืองหลวงของบริติชมลายา เรียกว่า "พรรคคอมมิวนสิต์จีนสาขาทะเลใต้" หรือ "หน่วยพรรคหนันยาง" เพื่อรับผิดชอบในการเคลื่อนไหวในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลในคาบสมุทรมลายาและในสยาม การก่อตั้งหน่วยพรรคหนันยาง ได้นำมาสู่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนสิต์จีนสาขาสยามขึ้นในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2471) ซึ่งรัฐบาลสยามเรียกว่า "คณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนสาขาประเทศสยาม" คณะใหญ่ที่ตั้งขึ้นนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเคลื่อนไหวชาวจีนในสยามโดยเฉพาะ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซในหมู่กรรมกรชาวจีน นักหนังสือพิมพ์จีน ครู และนักเรียนในโรงเรียนอยู่ไม่น้อย

ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2472 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาสยาม เปิดประชุมกันขึ้นที่ศาลเจ้าบนหลังคาโรงเรียนจินเต็กของจีนแคะ ถนนพาดสาย ปรากฏว่าข่าวรั่วไหล ทำให้ทางการสยามสามารถจับกุมผู้ร่วมประชุมได้ทั้งหมด 22 คน เป็นจีนไหหลำ 18 คน กวางตุ้ง 2 คน แต้จี๋ว 2 คน ในจำนวนนี้เป็นตัวแทนคณะใหญ่ที่สิงคโปร์ 2 คน คนหนึ่งชื่อ ตันคกคิว ซึ่งเป็นผู้กล่าวนำการประชุม ส่วนตัวแทนจากสิงคโปร์อีกคนคือ ฟองไพเผง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดเอกสารจากที่ประชุมไว้เป็นจำนวนมาก ผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ถูกลงโทษจำคุก 15 ปี และปรับอีก 5,000 บาท นับว่าเป็นการจับกุมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ทะเลใต้สะดุดลงไปมากพอสมควร

แม้ว่าจะมีการจับกุมชาวคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ แต่การเคลื่อนไหวของคณะคอมมิวนิสต์จีนในสยามก็มิได้ยุติลง ดังจะเห็นได้จากการที่คณะใหญ่คอมมิวนิสต์ทะเลใต้ยังสามารถทิ้งใบปลิวในวันครบรอบ 12 ปีของ การปฏิวัติบอลเชวิก รัสเชีย ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ได้ นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากการที่ยังมีการจับกุมคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลสยามเกิดขึ้นอีกหลายกรณี เช่น การจับกุมชาวจีนที่ประชุมกันที่โรงเรียนคีเม้ง ตำบลท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2472 (ปฏิทินเก่า) มีผู้ถูกจับกุมพร้อมกับของกลาง 27 คน เป็นต้น แม้ว่าคณะใหญ่คอมมิวนิสต์ทะเลใต้สาขาสยามจะปรับเป้าหมายที่จะดำเนินการทั้งการหนุนช่วยการปฏิวัติในประเทศจีนและโฆษณาเพื่อปฏิวัติสังคมสยาม แต่การเคลื่อนไหวในระยะแรกนั้น ก็ไม่มีคนไทยพื้นเมืองเข้าร่วม คงมีแต่ชาวจีนโพ้นทะเลและคนเชื้อสายจีนที่เกิดในสยามเท่านั้น

การจัดตั้งและขยายการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสยามนี้เอง ที่ส่วนหนึ่งพัฒนามาสู่การก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมา โดยที่มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวกลุ่มชาวเวียดนามชาตินิยมที่มีเป้าหมายปลดปล่อยชาติจากการปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศสเก่า การเคลื่อนไหวนี้เริ่มต้นและดำเนินกิจกรรมโดยชาวเวียดนามชาตินิยมที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยและได้อาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช โดยมีศูนย์กลางในการปฏิบัติงานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี

การเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2472 (ปฏิทินเก่า ซึ่งเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี) เมื่อ เหงียนอายกว็อก หรือ โฮจิมินห์ เดินทางด้วยเรือจากฮ่องกงกลับมากรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายซุง และได้นัดพบกับผู้นำคณะใหญ่คอมมิวนิสต์จีนในสยาม เพื่อหารือในเรื่องการจัดตั้งพรรคชนชั้นกรรมาชีพขึ้นในสยามอย่างเป็นทางการ เหงียนอายกว็อกได้ชี้แจงมติของคอมมิวนิสต์สากลให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนในสยามทราบ จากนั้นก็เดินทางไปพบกับผู้นำเวียดนามที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อหารือการเตรียมการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในสยามอย่างเป็นทางการ เหงียนอายกว็อกชี้แจงว่า เป็นมติของคอมมิวนิสต์สากลที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกประเทศที่มีชาวพรรคคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ โดยเหงียนอายกว็อกได้เสนอบทวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทย ดังนี้
"สยามเป็นประเทศศักดินาและกึ่งเมืองขึ้น ด้วยเหตุนี้ สยามยังไม่อาจทำการปฏิวัติสังคมนิยมได้โดยตรง แต่ต้องทำการปฏิวัติประชาธิปไตยนายทุนแบบใหม่ก่อน หลังจากบรรลุหน้าที่โค่นล้มศักดินาและจักรพรรดินิยมแล้ว อาศัยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตและพลังที่ปฏิวัติทั่วโลก สยามสามารถก้าวตรงสู่ระบอบสังคมนิยม โดยไม่ต้องผ่านระยะพัฒนาระบอบทุนนิยม"
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8