Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (15)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (3)

โจวเอินไหลและเหมาเจ๋อตง ฐานที่มั่นเยนอาน พ.ศ. 2478

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

จากบทความ http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสยามสู่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย; เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนถึงบทสรุปการก่อเกิดพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสยาม และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยไว้ว่า:
เมื่อทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายเวียดนามตกลงเห็นพ้องต้องกัน เหงียนอายกว็อก ก็ได้เป็นประธานจัดการประชุมจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีเป้าหมายเพื่อทำการปฏิวัติประเทศสยามโดยตรงขึ้น เรียกว่า "สมาคมคอมมิวนิสต์สยาม" โดยจัดการประชุมในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2473 ที่โรงเรียนตุ้นกี่ หน้าหัวลำโพง โดยสมาคมมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "ปฏิวัติโค่นล้มจักรพรรดินิยมและศักดินา เพื่อสร้างรัฐกรรมกรชาวนาแห่งสยาม" โดยในระยะแรกได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเพื่อบริหารพรรค ประกอบด้วยชาวเวียดนาม 2 คน ได้แก่ โงวจินก๊วก กับ อู๋ตัง หรือ เจิ่ยวันเจิ๋น และสหายชาวจีน ได้แก่ อู๋จื้อจือ หรือ สหายโหงว, หลิวซุชิ และ หลี่ฮุ่ยหมิน เป็นต้น ในหลักฐานของเวียดนามระบุว่า เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์สยามคนแรกเป็นชาวเวียดนาม อยู่บ้านนาจอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เรียกกันว่า สหายหลี่ ชื่อจริงคือ โงวจินก๊วก เคยถูกจับติดคุกมาก่อนจึงมีเกียรติประวัติการต่อสู้พอสมควรและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม นั่นคือ รู้ทั้งภาษาไทย จีน และเวียดนาม แต่หลังจากตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยามได้ปีกว่า โงวจินก๊วกก็ยุติการเคลื่อนไหวและหายสาบสูญไป จากนั้น ชาวจีนที่ชื่อ หวงเย่าหวน จึงได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สยามแทนในราวปี พ.ศ. 2475
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2473 นั้น มีสมาชิกจำนวนมากพอสมควร ส่วนมากเป็นชาวจีนและชาวเวียดนาม นอกจากนี้ ก็ยังมีสาขาทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดกระจายทั่วไป มีการจัดตั้งกรรมการกลางประจำกรุงเทพมหานครและประจำภาค 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ สมาชิกประกอบด้วยปัญญาชนชาวจีนที่เป็นครูอยู่ในโรงเรียนจีน, นักหนังสือพิมพ์จีน, พ่อค้าย่อย, กรรมกรโรงเลื่อย, กรรมกรโรงพิมพ์, กรรมกรโรงเหล็ก และกรรมกรโรงงานไม้ขีดไฟ เป็นต้น การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์สยามในเวลานั้นยังคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและถูกเพ่งเล็งอย่างมากจากรัฐบาลสยามซึ่งทำให้ผลสะเทือนของพรรคคอมมิวนิสต์สยามมีไม่มากนัก และนับตั้งแต่ก่อตั้งมาก็ถูกรัฐบาลทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และคณะราษฎรปราบปรามอย่างได้ผลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่นานก่อนญี่ปุ่นจะบุก ชาวคอมมิวนิสต์ที่เหลืออยู่ได้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเยาวชนลูกจีนจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญโดยผ่านโรงเรียนที่พวกเขาบางคนไปเป็นครู เยาวชนเหล่านี้ต่อมาได้กลายกำลังสำคัญในการก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์ไทย" ขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ครั้งนี้การตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผลสำเร็จเพราะพรรคไม่แตกสลายลงในเวลาอันสั้นอีก แต่จะกลายมาเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" หรือ พคท. ที่ดำเนินการปฏิวัติต่อเนื่องกันมาอีก 40 ปี (คำว่า "แห่งประเทศไทย" ถูกเพิ่มเข้าไปในปี พ.ศ. 2495)
**********
สำหรับผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ชื่อตำแหน่งว่า "เลขาธิการพรรค" ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มี 4 คน ได้แก่

  1. พิชิต ณ สุโขทัย (จูโซ่วลิ้ม, พายัพ อังคะสิงห์) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2485 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 1 (แต่มีแหล่งข้อมูลบางแหล่งไม่เห็นด้วยกับข้อมูลนี้ โดยอ้างว่า ในขณะนั้น นายพิชิตไม่ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาด้วย)
  2. ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์ (ทรง นพคุณ) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2495 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 2
  3. มิตร สมานันท์ (เจริญ วรรณงาม) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2504 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 3
  4. ประชา ธัญญไพบูลย์ (ธง แจ่มศรี, หลินผิง) ดำรงตำแหน่งจากปี พ.ศ. 2525 ในสมัยสมัชชาครั้งที่ 4 เป็นเลขาธิการคนสุดท้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เนื่องจากในเวลาต่อมา พรรคฯ ประกาศยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ตามมาด้วยการยุบพรรคฯ "อย่างไม่เป็นทางการ" นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของขบวนการคอมมิวนิสต์ไม่เฉพาะในประเทศ หากยังรวมถึงในระดับภูมิภาคด้วย
**********
เงื่อนไขประการสำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน ที่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือ การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่อทหารฝ่ายกษัตริย์นิยมและคนชั้นนำในสังคมไทยที่หมดอำนาจการปกครองลงหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และประสบความพ่ายแพ้ซ้ำซ้อนในการฟื้นคืนระบอบการปกครองเก่า (ที่เริ่มจากคราว "กบฏบวรเดช") ได้ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่สนับสนุนโดยพรรคการเมืองสายคณะราษฎรและสายขบวนการเสรีไทย (พรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากถูกจับ ทำให้พรรคยุติการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย สมาชิกมุ่งสู่ชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล

อีกทั้งการเมืองในภูมิภาคซึ่งในเวลานั้น ได้รับการยอมรับและการหนุนช่วยจากบรรดาขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ที่กำลังเติบโตพร้อมกับขบวนการสู้เพื่อเอกราช ซึ่งหมายถึงการปลดปล่อยจากการเป็นประเทศเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมเก่า และประเทศกึ่งเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมนักล่าอาณานิคมใหม่ อันเป็นส่วนใหญ่ของมหาอำนาจตะวันตกผู้ชนะสงครามที่ร่วมอยู่ในฝ่าย "สัมพันธมิตร" ยกตัวอย่างเฉพาะชาติในเอเชีย เช่น พม่า มลายู อินเดีย ของจักรวรรดิอังกฤษ, กลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ลาว เขมร เวียดนาม ของจักรวรรดิฝรั่งเศส, อินโดนีเซีย ของฮอลันดา และ ฟิลิปปินส์ ของสหรัฐอเมริกาที่สวมแทนสเปน

ในส่วนความสัมพันธ์กับจีน เบื้องต้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (โดยประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง) เจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญ เนื่องจากไทยต้องการสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งสาธารณรัฐจีนเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และอาจใช้สิทธิยับยั้งการเข้าเป็นสมาชิกของไทยได้ รัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามใน "สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน" เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2489

แต่แล้วเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนต้องพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต้องอพยพรัฐบาลไปตั้งที่ไต้หวันใน พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของ ประธานพรรค เหมาเจ๋อตง เข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ผู้นำของไทย รวมทั้งนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม มองสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยความหวาดระแวงว่าจีนจะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์หรือขยายอิทธิพลมาในประเทศไทย วิตกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะใช้คนจีนในไทยเป็นเครื่องมือแทรกแซงกิจการภายใน

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8