Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (17)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (5)

เด็กและประชาชนเกาหลีกำลังถูกทหารสหรัฐควบคุมให้อยู่ในความสงบหลังจากหมู่บ้านถูกโจมตีด้วยรถถัง M-26 ของสหรัฐที่เมืองหางจู 9 มิถุนายน พ.ศ. 2494

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

ก่อนหน้าการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ในคราวครบรอบ 50 ปีการอภิวัฒน์สยาม แก่สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2525 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ในเวลาอีกเพียง 4 เดือนเศษ รัฐบาลเลือกตั้ง โดยมี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2489  จากการกดดันของพรรคการเมืองต่างๆ และกลับไปใช้ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 104 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. 2470 โดยเพิ่ม "การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น" เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ด้วยการปราบปรามความพยายามลุกขึ้นก่อการโดยทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "คณะกู้ชาติ" นำโดย น.ต.มนัส จารุภา ร.น. ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นความพยายามที่จะฟื้นอำนาจให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ และกู้เกียรติภูมิของทหารเรือซึ่งมีบทบาทลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีส่วนร่วมเคียงคู่กับทหารบกและฝ่ายผลเรือนในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ทว่าในช่วงที่รัฐบาลจอมปลพล ป.กำลังเร่งสร้างรากฐาน "ระบอบ" ให้เข้มแข็งขึ้นนั้นเอง เกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ที่มีควาเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของมหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาที่กำลังเข้มแข็งและขยายอิทธิพลไปทั่วโลกเพื่อความเป็น "ผู้นำโลกเสรี" ต่อต้านการขยายตัวของ "ลัทธิคอมมิวนิสต์" และ "ขบวนการเอกราช/ชาตินิยม" ในขอบเขตทั่วโลก

ทั้งนี้ ปมเงื่อนที่สำคัญคือการเกิด "สงครามเกาหลี" (25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496) อันเป็นสงครามระหว่าง สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติฝ่ายหนึ่ง กับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ซึ่งหนุนหลังโดย  สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพโซเวียต ในฐานะผู้นำค่ายสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะยืนอยู่ในฝั่งตรงข้าม (ขณะนั้น เนื่องจากในเวลานั้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การปกครองของ พรรคคอมมิวนิสต์ ยังไม่ได้เป็นรัฐที่รับรองโดยสหประชาชาติ คงมีผู้แทนจาก สาธารณรัฐจีน ภายใต้การปกครองของ พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันหลังปราชัยสงครามกลางเมืองจีน)

สงครามเกาหลีเป็นผลจากเขตทางการเมืองของเกาหลีโดยความตกลงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะกระทำเมื่อสงครามแปซิฟิกยุติ คาบสมุทรเกาหลีถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นปกครองตั้งแต่ปี 1910 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด หลังการยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 รัฐบาลอเมริกันซึ่งในเวลานั้นมีอิทธิพลของฝ่ายทหารเช่น นายพล ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ วีรบุรุษผู้นำทางทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แบ่งคาบสมุทรตามเส้นขนานที่ 38 โดยกองกำลังทหารสหรัฐยึดครองภาคใต้ของประเทศ และกองกำลังทหารโซเวียตยึดครองภาคเหนือ

ความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปแบบเสรีในคาบสมุทรเกาหลีในปี พ.ศ. 2491 ยิ่งตอกลึกการแบ่งแยกระหว่างสองฝ่าย เกาหลีเหนือเลือกที่จะสถาปนารัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่สนับสนุนโดยสหภาพโซเวียต และรัฐคอมมิวนิสต์ที่มีพรมแดนติดกันซึ่งก็คือรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่เกาหลีใต้สถาปนารัฐบาลเสรีประชาธิปไตยภายใต้การครอบงำของสหรัฐอเมริกาขึ้น

เส้นขนานที่ 38 กลายเป็นพรมแดนทางภุมิศาสตร์และแบ่งแยกลัทธิการเมืองการปกครองระหว่างสองรัฐเกาหลี แม้การเจรจาเพื่อรวมประเทศยังคงดำเนินต่อมาหลายเดือนก่อนเกิดสงคราม แต่ความตึงเครียดกลับเพิ่มทวีขึ้น เกิดการรบปะทะและการโจมตีประปรายข้ามพรมแดนเส้นขนานที่ 38 ถี่ขึ้น สถานการณ์บานปลายเป็นการสงครามเต็มรูปแบบเมื่อกองกำลังเกาหลีเหนือบุกยึดพื้นที่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ตามมาด้วยการที่ สหภาพโซเวียตคว่ำบาตรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อเป็นการประท้วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋ง/สาธารณรัฐจีนเป็นผู้แทนของจีน เมื่อขาดเสียงไม่เห็นพ้องจากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีอำนาจยับยั้งข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงฯ สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นจึงผ่านข้อมติที่อนุญาตให้แทรกแซงทางทหารในเกาหลี

สหรัฐอเมริกาเองส่งทหารจำนวนมากคิดเป็น 88% ของทหารนานาชาติ 341,000 นายที่ถูกส่งไปช่วยเหลือกองกำลังเกาหลีใต้ต่อต้านการบุกข้ามพรมแดนเพื่อยึดครอง โดยมีรัฐสมาชิกสหประชาชาติอื่นอีก 20 ประเทศเสนอความช่วยเหลือ หลังประสบความสูญเสียอย่างหนักในช่วงสองเดือนแรก ฝ่ายตั้งรับถูกผลักดันกลับไปยังพื้นที่เล็ก ๆ ทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีชื่อว่า "วงรอบปูซาน" จากนั้น การรุกโต้ตอบอย่างรวดเร็วของสหประชาชาติได้ขับทหารเกาหลีเหนือผ่านเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไปเกือบถึงแม่น้ำยาลู เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับเกาหลีเหนือ การเข้าแทรกแซงของจีนบีบให้กองกำลังเกาหลีใต้และพันธมิตรถอยกลับไปใต้เส้นขนานที่ 38 อีกครั้ง แม้สหภาพโซเวียตจะมิได้ส่งทหารเข้าร่วมในความขัดแย้งโดยตรง แต่ก็ให้ความช่วยเหลือด้านยุทธปัจจัยแก่ทั้งกองทัพเกาหลีเหนือและจีน

การสู้รบยุติลงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 เมื่อมีการลงนามในความตกลงการสงบศึก ความตกลงดังกล่าวฟื้นฟูพรมแดนระหว่างประเทศใกล้กับเส้นขนานที่ 38 และสถาปนาเขตปลอดทหารเกาหลี แนวกันชนที่มีการป้องกันกว้าง 4.0 กิโลเมตร ระหว่างสองชาติเกาหลี ยังคงมีอยู่ต่อมาตราบจนปัจจุบัน

ในช่วงแรกของสงครามเกาหลี มีการก่อตั้ง ขบวนการสันติภาพสากล ขึ้นที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2493 มีการระดมรายชื่อประชาชนจากประเทศต่างๆ ได้ถึง 300 ล้านรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา "ยุติการรุกรานเกาหลีเหนือ"

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการประชุมจัดตั้ง คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2494 โดย นายแพทย์ เจริญ สืบแสง ได้รับเลือกเป็นประธาน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), พระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ และนายประจวบ อัมพะเศวต เป็นรองประธาน, นายอุทธรณ์ พลกุล (งาแซง), นายทวีป วรดิลก (ทวีปวร), นายสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) และ นายฉัตร บุณยศิริชัย (อ้อย อัจฉริยกุล) เป็นกรรมการ โดยมี นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ

และคณะกรรมการสันติภาพนี้ ถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พิจารณาว่าเป็นความเคลื่อนไหวของหรือได้รับการสนับสนุนบงการโดยคอมมิวนิสต์

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 กันยายน-3 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8