Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (8)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (8)

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญานเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลกาลที่ 9 ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519

8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 5 วันหลังการยึดอำนาจ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จึงมีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย ขึ้นคณะหนึ่ง มีฐานะเป็น สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 24 คน โดยมีพลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นประธานฯ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ รวมทั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญไปพร้อมกันแบบเบ็ดเสร็จ

รัฐบาลที่มี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีอีก 17 คน ซึ่งส่วนใหญ่แต่งตั้งตามความประสงค์ของนายธานินทร์เอง แต่กระนั้นก็ตาม ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็หนีไม่พ้น พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ นั่นเอง

สภาปฏิรูปฯ ใช้วลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519  ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 ของสยาม/ไทย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีจำนวน 29 มาตรา ต่อมาสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก็ถึงวาระสิ้นสุดในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มี สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 340 คน ทำหน้าที่รัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ส่วนหนึ่งมาจากคณะนายทหารจากนายทหารในคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นั้นเอง

รัฐบาลเผด็จการพลเรือนของนายธานินทร์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนและเห็นชอบของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนายธานินทร์เปรียบไว้ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือน "เนื้อหอย" มี "เปลือกหอย" ซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง จึงถูกสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า "รัฐบาลหอย" ส่วนสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอาจเรียกได้ว่า "อ่างเลี้ยงหอย" ซึ่งมีหน้าที่ฟูมฟักให้หอยในอ่างนั้นเติบโตไปข้างหน้า

สำหรับ "อาวุธ" ชิ้นสำคัญที่รัฐบาลหอยใช้ควบคุมบังเหียนการปกครองในเวลานั้น คือ มาตรา 21 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลวงการต่างๆ ทั้งสื่อสารมวลชน ทั้งนักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจการเมืองและรักในเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย มีความเห็นต้องตรงกันว่า ให้อำนาจล้นฟ้าแก่ ฝ่ายบริหาร ในลักษณะเดียวกับมาตรา 17 ใน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับสมญานามว่า "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง" มาแล้ว

นอกจากนั้น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี "หอย" ยังเสนอ "โรดแมพ" ในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย โดยกำหนดเป็นแผนการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งกำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 3 ขั้น หรือ 3 ช่วง ๆ ละ 4 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์และติดตามการเมืองไทยมานาน พิจารณาว่าแม้จะเรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่กับเนื้อหาที่มีเพียง 29 มาตรา ทำให้มีศักดิ์เท่ากับ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร" หรือ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เท่านั้นเอง

ขั้นที่หนึ่ง เวลาสี่ปีแรก "เป็นเวลาที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการ" นั่นคือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด ล้วนมีที่มาหรือเป็นผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมทั้งสิ้น ในเวลาต่อมา นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ นักวิเคราะห์การเมือง ตลอดจนสื่อสารมวลชนทั้งในและนอกประเทศ เรียกรัฐบาลชุดนายธานนินทร์ กรัยวิเชียร ว่าเป็น "รัฐบาลเผด็จการพลเรือน"

ขั้นที่สอง ช่วงเวลา 4 ปี ถัดมา เป็น "ระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น" โดยให้มีสภาสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

ขั้นที่สาม หรือสี่ปีสุดท้าย "ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร...และลดอำนาจของวุฒิสภาลง..." โดยมีเงื่อนไขว่า "ถ้า" สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเห็นว่าขั้นตอนของการ "พัฒนาประชาธิปไตย" ดำเนินไปได้ด้วยดี ก็อาจให้วุฒิสภาหมดไปได้

ส่วนนโยบายหลักที่แท้จริงในเวลานั้นที่ "แฝงฝัง" อยู่ในการใช้อำนาจของรัฏฐิปัตย์ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากการทำรัฐประหาร คือ การมุ่งปราบปราม "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" และกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า "กองทัพปลดแอกประชาชนไทย" เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ชนชั้นผู้ปกครอง (ซึ่งรวมทั้งผู้สูญเสียอำนาจและอิทธิทางการเมืองและสังคม จากเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516") มีความเห็นและตื่นกลัวต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกับพิจารณาว่าขบวนการนิสิต นักศึกษาประชาชนที่ตื่นตัวทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการเชื่อมโยงกับขบวนการคอมมิวนิสต์

ผลที่สุดหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2519 ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ซ้ำรอยด้วยการตัดสินใจทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง มีผลทำให้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับนี้ต้องมีอันยกเลิกไป ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520) ภายใต้ข้ออ้าง "รัฐบาลบริหารประเทศแล้วเกิดการแตกแยกในหมู่ข้าราชการและประชาชน เศรษฐกิจทรุดลง แผนพัฒนาประชาธิปไตย 3 ขั้น 12 ปี นานเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน"

ทั้งนี้ นับจากวันยึดอำนาจการปกครอง 6 ตุลาคม 2519 จากรัฐบาลเลือกตั้งที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงการยึดอำนาจการปกครอง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 คณะปฏิรูปฯ ได้ออกการแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน รวม 103 ฉบับ จำแนกได้ดังต่อไปนี้

1. แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (มีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายสูงสุด เนื่องจากออกโดยผู้ยึดอำนาจอธิปไตยของประเทศ ที่เป็น "รัฏฐาธิปัตย์"?) จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.1 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (แถลงการณ์การยึดอำนาจการปกครอง) 
1.2 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (นโยบายด้านการต่างประเทศ)
1.3 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (คำชี้แจงถึงเหตุผลในการยึดอำนาจ)
1.4 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (นโยบายด้านการต่างประเทศเพิ่มเติม)
1.5 แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2519 (แถลงให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2520)
2. ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 1 ฉบับ คือ ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 (เรื่อง นโยบายด้านแรงงาน)

3. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 47 ฉบับ ในจำนวนนี้มีทั้งศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ เทียบเท่าพระราชกฤษฎีกา และมีผลบังคับใช้ในฐานะคำสั่งของคณะรัฐประหาร

4. คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จำนวน 50 ฉบับ

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8