Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (18)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (1)

THE BANGKOK RECORDER หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่หมอบรัดเลและคณะมิชชันนารีจัดทำขึ้น (ในภาพเป็นฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2409 ในสมัยรัชกาลที่ 4)

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (1)

เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยบขึ้นในสยามนั้น สถาบันหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ไม่เพียงหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หากอาจย้อนกล่าวไปถึงห้วงเวลาก่อนการอภิวัฒน์ นั่นคือ "สถาบันสื่อมวลชน" หรือกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปที่ "ฐานันดรที่ 4" หรือ "หนังสือพิมพ์" ซึ่งเป็นรูปแบบสื่อสารมวลชนที่เป็นพื้นฐานมากที่สุด

(หมายเหตุ: ฐานันดรที่ 4 หมายถึง แรงขับดันหรือสถาบันทางสังคมหรือการเมือง ที่อิทธิพลของมันเป็นที่รับรู้ได้อย่างสม่ำเสมอหรือเป็นทางการ ซึ่งมักจะหมายถึงสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ มีที่มาจากในอดีต รัฐสภาอังกฤษสมัยราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยฐานันดรศักดิ์ทั้งสาม คือ
ฐานันดรที่ 1 คือ สภาขุนนาง ที่เป็นพวกขุนนางสืบตระกูลตามสายเลือด
ฐานันดรที่ 2 คือ บาทหลวง/นักบวชชั้นบิชอปหรือพระราชาคณะ
ฐานันดรที่ 3 คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกตั้งจากสามัญชนคนธรรมดา
ต่อมาการประชุมในรัฐสภาอังกฤษครั้งหนึ่ง สมาชิกสภาสามัญ (House of Common) ชื่อ เอ็ดมันด์ เบิร์ก อภิปรายว่า… "ในขณะที่เราทั้งหลายเป็น ฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งทั้งสามกำลังประชุมกันอยู่นี้ เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่าบัดนี้ได้มี ฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย" พลางชี้มือไปยังกลุ่มนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ร่วมฟังการประชุมสภาอยู่ในเวลานั้น จึงยึดถือกันสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ว่านักกนังสือพิมพ์หรือนักข่าวเป็นฐานันดรที่สี่)

ดังได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ต่างกรรมต่างวาระ ถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์มาสู่ระบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทิราชย์ ในสัมยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ในบรมราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันส่งผลให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในด้านสำคัญๆ อาทิ
ด้านเศรษฐกิจ การเก็บภาษีอาการและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินอย่างรวมศูนย์ไปที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2416 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมพระคลังมหาสมบัติในปี พ.ศ. 2418 และยกขึ้นเป็นกระทรวงในปี พ.ศ. 2433 และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2476 หรือภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 1 ปี; 
ด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงมหาดไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2435 หลังจากการยกเลิกระบบเจ้าเมือง เจ้าประเทศราช และรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางผ่านระบบราชการสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม ในขณะที่ส่วนภูมิภาคผ่านทางข้าหลวงเทศาภิบาลที่ส่งไปจากจากส่วนกลาง; 
ด้านการทหาร ยกเลิกระบบไพร่หรือทหารส่วนตัวของขุนนางและเจ้านายเชื้อพระวงศ์  เริ่มในปี พ.ศ. 2420 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2448 ริเริ่มระบบเกณฑ์ทหารและก่อตั้งโรงเรียนทหารเป็นครั้งแรกในป ปี พ.ศ. 2415 โดยใช้ชื่อว่า "คะเด็ตทหารมหาดเล็ก" ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งจนในปี พ.ศ. 2446 จึงใช้ชื่อว่า "โรงเรียนนายร้อยทหารบก" ส่วนชื่อ "โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามในปี พ.ศ. 2491; 
ด้านการศึกษา จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2414 อันเป็นการเริ่มต้นจัดการเรียนการสอนวิชาทางโลกแทนที่ระบบการเรียนในวัด กระทั่งจัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นในปี พ.ศ. 2435 และก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลเข้ารับใช้ระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ด้านการสาธารณสุข เริ่มการแพทย์สมัยใหม่โดยตั้งกรมพยาบาลและโรงศิริราชพยาบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2431 ตลอดจนจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาการด้านการแพทย์แบบตะวันตกโดยในขั้นแรกเรียกว่าวิทยาลัยแพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2433 ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
จะเห็นได้ว่าในกระบวนการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เมื่อพิจารณาในด้านทรัพยากรบุคคลแล้ว การพัฒนาทั้งหมดตกแก่ "ข้าราชการ" ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน อันมีเป้าหมายที่จะรองรับระบอบการปกครองใหม่คือ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เป็นหลัก การส่งบุคลากรทั้งที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือบุตรหลานของขุนนางใหญ่น้อย ก็เพื่อสนองเป้าหมายอย่างเดียวกันนั้น คือ "เข้ารับราชการ" เป็นสำคัญ

ทว่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหรือ "เปลี่ยนผ่านระบอบ (โดยไม่หลั่งเลือด)" นั้นเอง ที่ระบบการศึกษาอย่างใหม่ผลิต "บุคลากรนอกภาครัฐ" ขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากชาวจีนโพ้นทะเลที่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศแล้ว ในจำนวนนั้น คือการผลิต "นักคิดนักเขียน" ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิกในยุคการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งบรรดาคนหนุ่ม (สาว) ที่มีโอกาสไปรับการศึกษาทั้งที่เป็น "ในแบบ" จากประเทศตะวันตกที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิวัติประชาธิปไตยทั้งหมดนั้น ยังรับวิถีชีวิตและวิธีคิดทางปรัชญาการดำรงชีวิตแบบตะวันตกร่วมสมัยมาด้วย ที่สำคัญคือบริบทของ "เสรีภาพ" หรือ "เสรีภาพในการแสดงความเห็น"

จากบทความในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) เรียบเรียงโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา:
เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมีผลต่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 ในช่วงรัฐบาลคณะราษฎร ในช่วงอำนาจนิยมทางทหารสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม และสมัยรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทุกสมัยมีแนวโน้มในการควบคุมบทบาทของหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวดกวดขันโดยตลอด

บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์มีบาทบาทที่สำคัญดังนี้ บทบาทของหนังสือพิมพ์ในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในประการนี้เป็นอย่างมาก แม้ส่วนใหญ่จะไม่ประสบผลสำเร็จโดยตรง แต่ก็มีส่วนให้รัฐบาลต้องดำเนินการบริหารประเทศอย่างระมัดระวังมากขึ้น หนังสือพิมพ์จึงมีหน้าที่ไม่ต่างจากผู้แทนของประชาชนและเป็นสถาบันที่เผชิญหน้ากับรัฐบาลมาตลอด และบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการให้ความรู้ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการเน้นข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศ และบทความสารคดีทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยังเป็นกระบอกเสียงให้แก่ทั้งฝ่ายนิยมระบอบเก่าและฝ่ายนิยมระบอบใหม่

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8