สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (12)
กบฏทหารนอกราชการ หรือ
กบฏ 9 กันยา เกิดขึ้นหลังจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รักษาอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี
และบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องมาได้อีก 4 ปีเศษ
ความผิดพลาดประการสำคัญของฝ่ายก่อการฯ ที่ทำลายความได้เปรียบจากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรกเอาไว้ได้ จนดูเหมือนการยึดอำนาจจะราบรื่นและเสร็จสิ้นลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ การที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี "พ้นจากการควบคุมตัว" ของฝ่ายผู้ก่อการฯ และสามารถได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงตั้งกองบัญชาการปราบกบฏและเริ่มดำเนินการตอบโต้อย่างทันควัน ก่อนอื่นสามารถออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ที่ยึดคืนได้จากฝ่ายก่อการฯ ใช้อำนาจและออกประกาศปลดผู้ก่อการฯ ทั้งหมดออกจากตำแหน่งทางทหารโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้กำลังสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก (ยศในสมัยนั้น) รองแม่ทัพกองทัพภาคภาคที่ 2
ความเคลื่อนทางทหารของฝ่ายรัฐบาล เริ่มจากการส่งเครื่องบินเอฟ-16 บินเข้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อการฯ เหนือพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาสั่งการของกองทัพภาคที่ 2 เป็นหลักเข้ามายังกรุงเทพฯ มีรายงานว่าทหารทั้ง 2 ฝ่ายเกิดการปะทะกันประปราย ทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นายจากการปะทะ มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน
ความพยายามในการยึดอำนาจที่กลายเป็นเพียง "กบฏ" ได้ยุติลงในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายนนั้นเอง เมื่อกองกำลังฝ่ายก่อการฯ เข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 155 นาย นับเป็นเวลาทั้งหมด 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนรัฐบาลสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ทั้งลงได้อย่างสิ้นเชิง
ผู้นำกบฏส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพที่จะลอบเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปได้ อาทิ พันเอกมนูญ รูปขจร ก็ออกไปกระทั่งขอลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะได้หลบหนีไปยังประเทศพม่า ส่วนผู้นำระดับรองลงมาจำนวนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน
ต่อมา นายทหารที่มีส่วนร่วมในการก่อการทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นจำนวน 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา ต่อมามีหลายนายได้นำธูปเทียนไปขอขมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึงบ้านพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ (เดิมเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีประธานองคมนตรี ใช้เป็นบ้านพักอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. 2557) ในวันที่ 22 มิถุนายน ในขณะที่หลังจาก พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้เดินทางไปพบ พลเอกเปรมหรือให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
สำหรับ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการคุมกำลังทหารและเป็นหลักในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้รับความไว้ใจจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ภายหลังได้เลื่อนเป็นพลโท ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา
กบฏครั้งที่สอง กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา เกิดขึ้นหลังจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สามารถรักษาอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี และบริหารราชการแผ่นดินหลังความพยายามในการยึดอำนาจในคราว "กบฏเมษาฮาวาย" ต่อเนื่องมาได้อีก 4 ปีเศษ
นายทหารนอกประจำการกลุ่มหนึ่งซึ่งประสบความพ่ายแพ้ในคราวกบฏเมษาฮาวาย ลอบวางแผนก่อรัฐประหารในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ผู้นำในการก่อการครั้งนี้ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร, นาวาอากาศโทมนัส รูปขจร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน ที่ไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ทั้งนี้ ฝ่ายก่อการฯ อาศัยช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การ สื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งนี้นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้และผู้นำสหภาพแรงงานและกำลังทหารส่วนหนึ่ง เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการฯ ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้งนายทหาร ประกอบด้วย พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ., พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าปราบปรามฝ่ายก่อรัฐประหาร และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร, พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี, พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล ฯลฯ
จนถึงเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน
หลังจากทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และเห็นว่าสถานการณ์คงอยู่ในขั้นตรึงกำลังยันกัน ไม่มีฝ่ายฝดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบจนควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ จึงเกิดความพยายามจัดให้มีการเจรจาขึ้ในเวลา 15.00 น. โดย พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้ถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน