Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (6)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (6)

ตลอดคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนยังคงยืนหยัด ชุมนุมกันหนาแน่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คำประกาศเตือนและ ขู่ของรัฐบาลหาเป็นผลไม่ กลับมีคนออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมไม่ขาดระยะ

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมแล้วนั้น นายสัญญาจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 28 คน มีบุคคลสำคัญในวงการเมืองและชนชั้นนำในสังคมไทยเข้าร่วม "รัฐบาล (พระราชทาน) เฉพาะกาล" อาทิเช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (รมว. กลาโหม) ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (รมว. เกษตรฯ) นายประกอบ หุตะสิงห์ (รมว. ยุติธรรม) พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (รมช. ต่างประเทศ) น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว (รมช. สาธารณสุข)

รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่สืบเนื่องมาจาก รัฐบาลรัฐประหาร 3 ครั้ง นับจากปี 2500) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นอกจากนั้นยังแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบ และรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2517 และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 แต่หลังจากรับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันและเป็นที่กังขาต่อสาธารณชนมาจนถึงปัจจุบัน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2519

วันที่ 30 ตุลาคม รัฐบาลประกาศยึดทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร และภรรยาของทั้ง 3 คน

ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลจอม พลถนอม จนเกิดการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปราม รวมทั้งริเริ่มจัดรายการ "พบประชาชน" เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2516

7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เริ่มดำเนินการสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญ (ถาวร?) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 18 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยคณะกรรมการชุดนี้ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 มาเป็นแนวในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และใช้เวลาในการยกร่างเพียง 3 เดือน

จากนั้นรัฐบาลดำเนินการจัดทำและทูลเกล้าฯ เสนอรายชื่อบุคคลวงการต่างๆ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน จัดการประชุมคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่วันที่ 10 ธันวาคม ทั้งนี้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลรัฐประหาร 3 ครั้ง (ซึ่งยังคงสถานภาพอยู่ให้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516) นับจากปี พ.ศ. 2500 คือ
(1) รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
(2) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
(3) รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
เนื่องจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีจำนวนมาก จึงต้องใช้สนามราชตฤนมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) เป็นที่ประชุม จนสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นให้สมญาสมัชชานี้ว่า "สภาสนามม้า"  พิธีเปิดประชุมจัดในวันที่ 16 ธันวาคม 2516 พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธานฯ สมัชชาฯ เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง และประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2516 โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานฯ พลเอก สำราญ แพทยกุล และนายประภาศน์ อวยชัย เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และคนที่ 2

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอยกร่างฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 แต่กระบวนการต่อจากนั้นกลับเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณายกร่างฯ แล้วเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และรับหลักการเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2517 เป็นเหตุให้รัฐบาลกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 เนื่องจากบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 6 เดือน แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เสร็จตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเห็นสมควรให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 นั้นเอง

กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อจากนั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งร่างฯดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 35 คน พิจารณา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงได้ลงมติเห็นชอบเมื่อ 5 ตุลาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 กำหนดให้มีสภา 2 สภา คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากเลือกตั้ง

นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ในเวลานั้นยอมรับกันว่ามอบอำนาจให้แก่ประชาชนและวางหลักประกันและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นยังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 นั่นคือการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการเลือกตั้งในระบบพรรค มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียนก่อตั้งพรรคมากเป็นประวัติการณ์รวม 42 พรรค กำหนดการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย

มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเสนอความเห็นมาแล้วหลายครั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 40 ปีมานี้ ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2517 และฉบับพุทธศักราช 2540 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับอื่นๆ (อีก 16 ฉบับ) เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์) นั้น จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ 2 ประการ คือ
เงื่อนไขแรก ผู้แทนปวงชนต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภานิติบัญญัติและวุฒิสภาในฐานะสภาตรวจสอบ
เงื่อนไขที่สอง ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอำนาจอธิปไตย (ทั้งสาม) อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบกันเข้าจาก 2 ส่วนคือ (1) องค์กรอิสระ และ (2) องคมนตรี ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 นั้น "ไม่มี" องคมนตรี.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8