Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (4)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (4)

นิสิตนักศึกษาชุมนุมประท้วงประท้วงการเลือกตั้ง 2500 บริเวณท้องสนามหลวง (ขวามือของภาพคือโครงสร้างอาคารฉลองกึ่งพุทธกาล) นำไปสู่การรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นเวลา 68 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ปรากฏว่าระบอบการเมืองของไทยยังคงหนีไม่พ้นวังวนของการล้มลุกคลุกคลาน มีการสลับฉากไปมาระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญพลเรือนและรัฐธรรมนูญทหาร หรือ "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว" หลายครั้ง อันเป็นผลจากการรัฐประหารด้วยคณะนายทหาร ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน การรัฐประหารซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 11 ครั้ง คือ
  1. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
  2. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  3. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  4. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
  5. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ตามที่ตกลงกันไว้)
  6. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  7. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
  8. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเอง
  9. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
  10. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
  11. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ
ทั้งนี้ในท่ามกลางการปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร รัฐบาลพลเรือนทั้งที่มาจากการแต่งตั่งขึ้นโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองมา และทั้งรัฐบาลที่มาจกการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศสมัยใหม่ ประเทศไทยมีการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองถึง 15 ฉบับ ตามลำดับดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว ) พุทธศักราช 2490 (ฉบับใต้ตุ่ม ) มี 98 มาตรา มีที่มาจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยนายทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ โดยมี หลวงกาจสงคราม (พ.อ. กาจ กาจสงคราม) เป็นรองหัวหน้าคณะ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามมีส่วนอย่างสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 และเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ "ใต้ตุ่ม" ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เพื่อการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มี 188 มาตรา มีที่มาจาก สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 เป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.1 ) คณะแรกของประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สมาชิกที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้ง) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ "ใต้ตุ่ม") และสมาชิกที่มาจากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน (สมาชิกแต่งตั้ง) รวมจำนวน 40 คน ยกร่างจัดทำแล้วให้สภาอนุมัติ รัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญซึ่งระยะเวลาบังคับใช้  2 ปี 8 เดือน 6 วัน ฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4)

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 มี 123 มาตรา ระยะเวลาบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีที่มาจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง ที่เรียกว่า "รัฐประหารเงียบ" เสนอร่างฯ ให้สภาอนุมัติ ลำดับเหตุการณ์การยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีระยะเวลาใช้งานนานถึง 6 ปี 7 เดือน 12 วัน เริ่มเมื่อหลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระหว่างนั้นให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (ประกาศใช้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมกันนั้นให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา

และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อรูปช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล ประกอบกับเกิดความปั่นป่วนในสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่ก่อตั้งโดย จอมพล ป. มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไป รวมทั้งผ่านการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีการโกงกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งทั่วไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกทั้งเกิดรอยร้าวที่ลึกยิ่งขึ้นทุกทีภายในคณะทหารที่ทำรัฐประหารต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ผลก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงทำการรัฐประหารอีกครั้ง เป็นอันสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ซึ่งมีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8