Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (3)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (3)

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ. 2556)

ในท่ามกลางความผันผวน/กระแสพลิกกลับระหว่างความพยายามในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยกับการฟื้นฟาดระบอบการปกครองก่อนประชาธิปไตย นั้น นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส เคยให้ทัศนะถึงปรากฏการณ์ความพ่ายแพ้ของฝ่ายแรกไว้ในการให้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ทางสถานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549) ในรายการสัมภาษณ์ที่จัดขึ้น ณ ที่พำนักในอองโตนี ชานกรุงปารีส โดย ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของบีบีซี นายปรีดีได้มองย้อนหลังความล้มเหลวในการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการให้อรรถาธิบายถึงความเป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489

ผู้เขียนเคยนำเสนอคำให้สัมภาษณ์ไว้ ในบทความ "นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม: ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร" โดยครั้งแรกตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2553 เผยแพร่ซ้ำทางฟอรั่ม arinwan เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และนำมาขยายเป็นบทความ 2 ตอนใน โลกวันนี้ วันสุข วันที่ 27 สิงหาคม-2 กันยายน 2554 และ วันที่ 3-9 กันยายน 2554

ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำเสนอของผู้เขียนคอลัมน์ โดยหวังให้มีการทบทวนจุดยืนและแนวทางการเคลื่อนไหวต่อขบวนที่ประกาศว่ายืนอยู่ในฝ่าย "ประชาธิปไตย" ในเวลานั้น ที่นำโดย "แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" แม้ว่าดูจะไร้ผลสำหรับ "แกนนำ" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า (จนแม้ถึงตอนนี้) ว่ายังคง "ไม่ตอบโจทย์ประชาธิปไตยมากไปกว่าการชนะเลือกตั้ง"

นายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ (อาจจะ) เพียงคนเดียวที่กล้าวิจารณ์ตนเองต่อการเป็นผู้ก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปแล้วถึงกึ่งศตวรรษ แต่กลับไม่ปรากฏว่าขบวนการเคลื่อนไหวกระแสหลักในสังคมไทยนำพามาใช้เป็นประโยชน์แต่ประการใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าด้วยการเพิกเฉยต่อองค์ความรู้ ตลอดจนการตกผลึกประสบการณ์ตรงในบริบทใดๆ (ในกรณีนี้คือ "การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย") ย่อมยากที่จะบรรลุภารกิจและ/หรือพันธกิจในบริบททางสังคมนั้นๆ
**********
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้ สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภ และความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาด ทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิ วัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น

ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…

แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยการล่าช้า ไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ไม่ได้เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัวแต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้ จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณา ดังนี้คือ

ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและภายนอกคณะ มาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น, และ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง

ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489  ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งมีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมาย และในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ กรมขุนไชยนาทฯ พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราช โองการนั้น ก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8