Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (5)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (5)

วันที่ 10 ตุลาคม 2516 หลังจากนักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่เดินขบวนไปสมทบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ทั้งหมดจึงเคลื่อนขบวนไปชุมนุมกันที่ประตูท่าแพ ในภาพเป็นช่วงที่ขบวนกำลังเผ่านตลาดวโรรส

หลังกึ่งพุทธกาล ขณะที่ขอบเขตทั่วโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น ควบคู่ไปกับการปลดแอกของชาติอาณานิคมจากการปกครองของนักล่าเมืองขึ้นทั้งเก่าและใหม่ในซีกโลกตะวันตก เกิดรัฐเอกราชใน 3 ทวีป คือทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้และประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และทวีปอัฟริกา พร้อมกับกระแสตื่นตัวการสถาปนารัฐประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น ทว่าประเทศไทยกลับดูเหมือนจะเปิดฉากพุทธศตวรรษใหม่อย่างถอยหลังเข้าคลองด้วยการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร ที่มาพร้อมกับการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครอง" ที่ไม่ใช่ "รัฐธรรมนูญ" หากถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นฉบับที่ 4 นับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

4. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน นับเป็นกฎหมายสูงสุด "ชั่วคราว" ในการปกครองประเทศ แต่กลับประกาศใช้ยาวนานที่สุดในประเทศไทย แต่ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าวกลับไม่ใช่ส่วนที่ "อัปลักษณ์" ที่สุด สะท้อนความเป็นเผด็จการมากที่สุด เพราะทั้งสองประการนั้นปรากฏชัดเจนอยู่แล้วในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นอกจากนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฯ ฉบับ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" (ตามที่จอมพลสฤษดิ์ผู้นิยมเพลง "เย้ยฟ้าท้าดิน" ประกาศต่อสาธารณะจนก้องฟ้าเมืองในในสมัยการปกครอง) ยังเป็น "แม่แบบ" การยกร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ตั้งใจจะให้เป็น) ฉบับถาวรในเวลาต่อมา คือการมีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มีสมาชิกแต่งตั้งรวมทั้งสิ้น 240 คน) ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติโดยอัตโนมัติ
มาตรา 7 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย
ในที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญที่ได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก" คือใช้เวลาเท่ากับการบังคับชะรรมนูญการปกครองชั่วคราวฉบับนี้เอง

รัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี 2 ชุด เป็นรัฐบาลทหารที่มีที่มาจากการรัฐประหารทั้ง 2 ชุดๆ แรกคือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิวัติ" รัฐบาลชุดที่สองเป็น "ผู้สืบทอดอำนาจ" จากรัฐบาลชุดแรกและมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารทั้งในปี พ.ศ. 2500 และในปี พ.ศ. 2501

5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มีจำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จากการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งหนึ่งเช่นที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยทำมาแล้ว หรือที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยการยึดอำนาจจาก "รัฐบาลหุ่น/ตัวแทน" หรือ "รัฐบาลนอมินี" ของจอมพลสฤษดิ์เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน

ผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514) ทั้งนี้ตลอดชีวิตทางการเมือง จอมพลถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย (รวมครั้งที่ทำรัฐประหารตนเองนี้ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) สมัยแรกเป็นนายกในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 (1 มกราคม พ.ศ. 2501 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) สมัยที่สองถึงสี่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม นับเป็นนายทหารยศจอมพลคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้งมากที่สุด

6. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีจำนวน 23 มาตรา (มีบทบัญญัติเผด็จอำนาจเด็ดขาดใน มาตรา 21) โดยคณะรัฐประหารประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ จนกว่าจะมีการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ "อีกฉบับหนึ่ง" ในอนาคต  และสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรรมนูญการปกครองดังกล่าวได้มีมติให้จอมพล ถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป นับเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้าย ของจอมพล ถนอม กิตติขจร ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและทุกตำแหน่งทั้งทางการเมืองและการทหารทั้งหมด กระทั่งถึงกับต้องเดินทางออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ซึ่งเริ่มจากมีบุคคลร่วมลงชื่อ 100 คน เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักการเมือง นักคิด นักเขียน นิสิต นักศึกษา และรวมตัวกันประมาณ 20 คน นำโดย นายธีรยุทธ บุญมี ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ทางการส่งกำลังตำรวจนครบาลออกสกัดจับและจับได้เพียง 11 คน นำไปควบคุมตัวที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน จากนั้นจึงนำไปขังต่อที่เรือนจำกลางบางเขน พร้อมตั้งข้อหาร้ายแรงว่า เป็นคอมมิวนิสต์ โดยห้ามเยี่ยมห้ามประกันเด็ดขาด

จากการสืบสวนขยายผล มีการประกาศจับนายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และตามจับนายไขแสง สุกใส อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม ในข้อหาอยู่เบื้องหลังการแจกใบปลิว เป็นผู้ต้องถูกจับทั้งหมด 13 คน ถูกเรียกขานว่าเป็น "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจครั้งใหญ่แก่นิสิตนักศึกษาที่ต้องการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญสำหรับเป็นหลักในการปกครองประเทศ และประชาชนทั่วไปในวงกว้าง นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประชุมกลุ่มต่างๆ มีมติยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยบุคคลทั้ง 13 ก่อนเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง

ต่อมารัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีการ "จัดตั้ง" ไม่ว่าจะโดยพฤตินัยหรือโดยนิตินัย ที่ประกอบด้วยมวลชนจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (และรักษาการจนกว่าจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ ประกาศใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั่วไป) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองคมนตรี ทั้งนี้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในฝ่ายนิสิต นักศึกษา

รวมระยะเวลาที่จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งโดยการสืบทอดอำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยการเลือกตั้ง รวมทั้งโดยการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2514 ทั้งสิ้น 10 ปี 6 เดือนเศษ และธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีอายุใช้งานรวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน นับจากวันที่ 15 ธันวาคม 2515 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ "ถาวร (???)" เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8