Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (89)

"กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน"
กบฏสุดท้ายก่อนยุคคอมมิวนิสต์ (1)

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตกลงยินยอมร่วมเดินไปกับขบวนประชาชนในจังหวัดพระนครตลอดจนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยผู้ประท้วงการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล

การรัฐประหารถึง 5 ครั้งในเวลา 11 ปีหลังกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ และเริ่มรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่เริ่มจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการรัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม; การรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง (มีการเลี่ยนแบบในการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ จากการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เสียงพอจะตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้ เป็นรัฐบาลผสมนำโดยพรรคสหประชาไทย); การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี; และการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจาก พลเอกถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) อันเป็นรัฐประหารกำมะลอเพื่อผ่องถ่ายอำนาจมาสู่ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ (หัวหน้าคณะรัฐประหาร16 กันยายน 2500)" ตัวจริง

ในช่วงเวลาระหว่างหนึ่งทศวรรษหลังการทำลายดอกผลของ การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนหรือที่แต่เดิมถือเป็น "กบฏชาวนา" ครั้งใหญ่ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือ "กบฎดุซงญอ" ในปี พ.ศ. 2491 และอีกครั้งหนึ่ง คือ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" ในปี พ.ศ. 2502

นอกจากนั้นการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2501 นี้เองนับเป็นอีกครั้งหนึ่งของ "การรัฐประหารเงียบ" หรือ "ยึดอำนาจตัวเอง" (และต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ลอกแบบมาใช้อีกครั้งในการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514) นำมาซึ่งการปกครองในระบอบเผด็จการทหารที่มีการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" ที่มีเพียง 17 มาตรา และส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ เบ็ดเสร็จ และเด็ดขาด ด้วยมาตรการ รัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อ "สภา (กำมะลอ) ร่างรัฐธรรมนูญ"

นอกเหนือจากการอาศัยมาตรา 17 ในการประหารชีวิตบุคคลประเภท "เป็นภัยต่อสังคม" ที่ในเวลานั้นยังไม่มีการใช้คำเรียกนี้เหมือนเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" (ซึ่งดูเหมือนว่าจะล้มเหลว) ด้วยการประหารผู้ต้องหาค้ายาเสพติดและข้อหาวางเพลิงแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังใช้อำนาจตามธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 17 ประหารบุคคลที่สงสัยว่าจะก่อความไม่สงบหรือข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น นายศิลา วงศ์สิน, นายศุภชัย ศรีสติ, นายครอง จันดาวงศ์ และ นายทองพันธ์ สุทธิมาศ เป็นต้น ซึ่งในเวลาต่อมาเท่ากับเป็นการผลักดันให้ประชาชนที่มีความคับแค้นจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากข้าราชการและเจ้าหน้าในท้องถิ่น หลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันเสียงปืนแตก" เมื่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ที่รัฐบาลไทยในช่วงเวลาต่อเนื่องมาอีก 3 ทศวรรษ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยปืนเป็นครั้งแรก ที่ บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

สำหรับการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น จะละเว้นไม่เขียนถึงเนื่องจากการก่อการหาได้มีลักษณะการลุกขึ้นสู้ในลักษณะ "กบฏไพร่" หรือ "กบฏชาวนา" แต่อย่างใด เมื่อเป็นดังนั้น จึงสามารถนับได้ว่า "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" เป็นกบฏชาวนาครั้งสุดท้ายของราชอาณาจักรไทยไดโดยปริยาย

รายละเอียดความเป็นไปของ "กบฏผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน" เท่าที่สืบค้นมาได้มีเพียงแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวจากบล็อกเกอร์ http://hello-siam.blogspot.com/2008/03/2502.html ในชื่อหัวข้อว่า "กบถผีบุญ นายศิลา วงศ์สิน เมื่อปีพ.ศ.2502" และใช้ชื่อรองว่า "ย้อนรอยอดีต กบถผีบุญที่โชคชัย โคราช"
**********
กลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 รถยนต์ (บรรทุก?) คันใหญ่สามคันได้ภายใต้การนำของ นายศิลา วงศ์สิน ได้นำราษฎรทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กรวมแล้วกว่าร้อยคน มาเป็นแขกของ บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ในเวลากลางดึก นายสงวน อินคำ ผู้ใหญ่บ้านใหม่ไทยเจริญ เข้าไปสอบถามได้ความว่า พากันอพยพจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยอ้างว่ารัฐได้จัดให้หมู่บ้านนี้เป็นที่จับจองทำกิน โดยผู้ใหญ่สงวนก็งงเพราะไม่เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้จากทางการ จึงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของคนเหล่านี้

ราษฎรร้อยกว่าชีวิตก็หักล้างถางพงจับจองที่ดินสร้างบ้านเรือน พร้อมกับจ้างราษฎรท้องถิ่นโดยให้ค่าแรงสูงกว่าปกติ ใช้เงินซื้อข้าวของมากผิดปกติ นอกจากนี้ทางเข้าหมู่บ้านคุ้มที่นายศิลาสร้างใหม่ ยังมียามถือปืนเฝ้าทางเหมือนป้อมค่ายทหาร

เมื่อการปลูกสร้างเสร็จสิ้น นายศิลา วงศ์สิน ก็ประกาศตนว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด สามารถรักษาโรคได้สาระพัด "ใครเป็นโรคอะไรไปหาหมอไม่หาย ไม่อยากหายไปจากโลก ก็มาอ่อนน้อมและทำตามที่ฉันบอก" นอกจากนั้นหน่วยประชาสัมพันธ์ของนายศิลา ยังตระเวณไปโฆษณาความวิเศษของนายศิลา โดยใช้กลอนลำในลักษณะเดียวกับที่นายโสภา พลตรี เคยใช้มาก่อนใน "กบฏหมอลำโสภา พลตรี" เมื่อปี พ.ศ. 2483 จากการสืบทราบได้ความว่า นายศิลา อายุประมาณ 50 เศษ และเมียสาวสวยเป็นราษฎรจากอำเภอโชคชัย ชื่อ ประกายแก้ว อายุเพียง 20 ปี ที่พ่อและแม่ของนางสาวประกายแก้วยกให้นายศิลา หลังจากได้รักษาให้เธอหายจากโรคร้าย

และจากกิตตติศัพท์ที่ร่ำลือกันไป ทำให้มีราษฎรหลั่งไหลกันมาขอให้ช่วยเหลือ มีทั้งชาวลาวจากเวียงจันทร์และชาวเวียดนาม รวมทั้งคนเจ็บและญาติพี่น้องที่เฝ้าคนเจ็บที่รอให้นายศิลารักษาอยู่จำนวนมาก แต่จนถึงตอนนั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองยังไม่อาจตั้งข้อหาใดๆ เอากับนายศิลา และพวกพ้องได้แต่อย่างใด คงติดตามรับฟังการรายงานจากผู้ใหญ่สงวน อินคำ เป็นระยะ

แต่แล้ว (จากบันทึกรายงานของทางการบ้านเมือง) มีการรายงานว่าในวันที่ 5 พฤษภาคมอันเป็นวันฉัตรมงคลนั้นเอง นายศิลาได้ประกาศตนเป็นกษัตริย์ โดยมีนางประกายแก้วเป็นราชินี พร้อมกับบรรดาเหล่าเมียน้อย ที่เข้ามาห้อมล้อมคนมีบุญอย่างนายศิลา ได้เป็นเจ้าจอม สนม กำนัลบ้าง รวมทั้งบรรดาลูกน้องคนสนิท หมอลำหน่วยโฆษณา บรรดาญาติๆ ต่างได้เป็นขุนนาง ตำแหน่งดุจเดียวกับราชสำนัก และมีข้าทาสบริวารกันพร้อมหน้า ตอนนี้ประชาชนหามีแค่ชาวโชคชัย หรือโคราชนี้เท่านั้น จากอีสานทั่วสารทิศต่างที่จะเข้ามาชื่นชมบารมีของผู้มีบุญกันถ้วนหน้า ลาภยศ ศรัทธาต่างไหลมาเทมาไม่ว่างเว้น

ผู้ใหญ่สงวนรีบไปแจ้งแก่ทางอำเภอทันที แต่กว่าข่าวจะไปถึงก็ใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากการคมนาคมในเวลานั้นเป็นอย่างยากลำบาก ซึ่งเมื่อนายอำเภอเลิศ พุกกะรัตน์ ได้รับแจ้งก็เร่งรีบเรียกหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ มาประชุมหารือ พร้อมทั้งประมวลข่าวสารทุกแหล่งข่าวเท่าที่จะหาได้ ที่ประชุมได้ข้อยุติร่วมกันว่า นายอำเภอและคณะจะต้องลงไปตรวจสอบเหตุการณ์ ณ สถานที่จริงคือ บ้านใหม่ไทยเจริญ ให้เห็นกับตา.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 เมษายน-2 พฤษภาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8