สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (2)
ประชาชนจากหลากหลายกลุ่มลุกขึ้นชุมนุมต่อต้านรัฐบาล
พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
จนนำไปสู่กรณีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535"
และความเห็นต่างในบริบท "รัฐธรรมนูญนิยม" นี้ มีที่มาจากการรับรู้ มีส่วนร่วม และติดตามระบอบการเมืองในประเทศไทยนับจากปี พ.ศ. 2515 อันอยู่ในช่วงการปกครองของ "ระบอบถนอม-ประภาส" หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ดังได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ทั้งนี้จอมพลถนอมยังคงใช้ชื่อคณะทหารที่เข้ายึดอำนาจรัฐบาล (ของตนเอง) ตามที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้คือ "คณะปฏิวัติ" ประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญ 2511" ยุบสภาฯ ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง
ตามมาด้วยการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515" ซึ่งไม่ต่างไปจาก "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" มีการใช้กฎหมายของคณะปฏิวัติ (ที่ควรใช้ว่า "คณะรัฐประหาร") ซึ่งให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" กล่าวคือ "มาตรา 17" ที่ ในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 เขียนว่า
มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบในขณะที่ "มาตรา 21" ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 เขียนว่า
มาตรา 21 บรรดาประกาศของคณะปฏิวัติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างการปฏิวัติวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 จนถึงวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและแม้ว่าจอมพลถนอมจะไม่เคยประกาศเช่นที่จอมพลสฤษดิ์เคยประกาศไว้ว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" แต่ในอีกเพียงไม่ถึง 2 ปี "ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์" ก็เดินทางมาถึงจุดจบใน "เหตุการณ์ 14 ตุลา" อันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 นั่นเอง
ผู้เขียนเคยเสนอในการเสวนาในฐานะผู้ฟังมาแล้วหลายกรรมหลายวาระ เมื่อนักวิชาการบางคนกับนักการเมืองบางคนเสนอแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมต่อขบวนประชาชาติประชาธิปไตย ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอดังกล่าว "ขาด" รากฐานที่จำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศ โดยมองข้ามอดีต ทั้งระยะใกล้ (หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2517) และระยะไกล (หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475) นั่นคือ แม้ในหมู่ประชาชนที่ก้าวหน้าที่สุด หรืออยู่ในกลุ่มที่ก้าวหน้าที่สุด (จะประกาศตัวหรือไม่ก็ตาม) ในฝ่ายประชาธิปไตยเอง ยังไม่ทำความเข้าใจเนื้อแท้ใน "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้นพูดและเขียนถึง
ผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2511 ที่มีต่อสังคมไทย
ประการแรก คือการขานรับของนักการเมืองเก่า คือรุ่นก่อนการรัฐประหาร 2500 ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยู่ในวิสัยที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้อีกครั้งหนึ่ง ในจำนวนนี้ "เชื้อสาย" ที่ยังคงมีอยู่ในเวลานั้นคงหนีไม่พ้น พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเสรีมนังคศิลา, พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพอันมีที่มาจากคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทย ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งเป็น "นักเลือกตั้ง" ที่พากันขยับตัวปาน "ปลากระดี่ได้น้ำ"
ประการถัดมา คือ กลุ่มปัญญาชน นักคิดนักเขียน และประชาชนทั่วไป ที่อึดอัดกับการปกครองในระบอบเผด็จการของ "คณะปฏิวัติ" มายาวนานถึง 11 ปี
ประเด็นที่ผู้เขียนทบทวนหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือความคล้ายคลึงกันของภาวการณ์ทั่วไปในหมู่คนทั้ง 2 กลุ่ม (ที่ยังประกอบกันอยู่เป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม) นั้น ที่เห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง เป็นทั้งสัญลักษณ์และเป้าหมายสำคัญต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าผู้คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า "การมีรัฐธรรมนูญดีๆ (ที่ยกร่างโดยคนดีๆ กลุ่มหนึ่ง) สักฉบับหนึ่ง อาจสร้างประชาธิปไตยขึ้นในสังคมไทยได้"
ผลสืบเนื่องจากวิธีคิดและจุดยืนดังกล่าวจึง "ลาม" มาถึงความพยายามในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ภายหลังจากที่กลุ่มการเมืองที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายลุกขึ้น "ต่อต้าน" รัฐบาล พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อันนำไปสู่กรณีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ 2535"
กระนั้นก็ตาม แม้จนหลังการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549 ที่นำโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน ต่อเนื่องมาในสมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นากยกรัฐมนตรี ที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ก็สู้อุตส่าห์ "คลอด" รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ออกมาจนได้ กับกระบวนการ "ลงประชามติ" กฎหมายทั้งฉบับ ที่มี 309 มาตรา และกฎหมายนั้นคือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ซึ่งนับเป็นกฎหมายแม่บทของการปกครองประเทศสมัยใหม่มากว่า 200 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการ "ลงประชามติ" แบบ "ขืนใจ/มัดมือชก" ประชาชนกว่าครึ่งของจำนวนประชากร เพื่อให้มีทางเลือกเพียงแค่ "รับ" หรือ "ไม่รับ" โดยมี "เงื่อนไขแฝง" ที่ว่า "รับๆ ไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขทีหลัง" ซึ่งปรากฏว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้หาได้มีมูลความจริงและความเป็นไปได้ที่จะทำให้ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังที่เห็นและเป็นอยู่นับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 จนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
ผลก็คือ แม้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน (ซึ่งเป็นวาทกรรมบิดเบือนอย่างไม่น่าให้อภัย) หรือไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเลย (เช่นธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร) ระบอบการเมืองไทยก็ยังไม่สามารถยกระดับสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ผู้เขียนได้เขียนสรุปในบริบทนี้ไว้ในบทความทางเว็บบอร์ด เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554 ว่า
"นั่นหมายความว่า ขบวนประชาธิปไตยประชาชนเพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องเริ่มต้นด้วยการอภิปรายอย่างกว้างขวางตลอดทั้งขบวน ถึงเป้าหมายทั้งเชิงอุดมการณ์และเป้าหมายรูปธรรม ทั้งนโยบายหลักและนโยบายเฉพาะหน้า จากนั้นจึงพิจารณาลงในมิติที่ลึกลงไปในรายละเอียด ร่างเค้าโครงทั่วไปเขียนได้แต่หลักการใหญ่ๆ ถ้ามีความเข้าใจในพื้นฐาน แสดงว่าเกิดจินตภาพที่จำเป็น เพื่อสร้างหน่วยการเมืองพื้นฐานที่ประกอบกันเข้าเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ขึ้น กระทั่งพัฒนาไปสู่ในที่สุดคือมวลชน ที่มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน และนั่นคือ "พลัง" ในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง."
**********
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน