Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (1)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (1)*

สภาปฏิวัติ 17 พฤศจิกายน 2514 จากซ้ายไปขวา พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์, พลเอก ประภาส จารุเสถียร, จอมพล ถนอม กิตติขจร, นายพจน์ สารสิน, พลเอก กฤษณ์ สีวะรา

แผ่นดินเกิดของประชาชาติไทยเดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในบริบททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2554 และจัดตั้งรัฐบาลโดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมามีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีสาเหตุจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 และถูกหลายฝ่ายคัดค้าน ซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556-2557

จนกระทั่งในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 3 นาฬิกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และต่อมาต่อมา กองทัพบกออกประกาศยุติการดำเนินการของ ศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทน โดยมีพลเอกประยุทธ์ประยทธ์เป็น ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.)

และแล้วถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. จึงเกิดการการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (National Peace and Order Maintaining Council) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

นับจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่ก่อรูปขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2547-2548 อันนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ผู้เขียนเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และพยายามตกผลึกนำเสนอแนวคิดต่อสภาวการณ์ทางการเมืองไทยมาตลอด ทั้งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 เคยเสนอบทความ (ที่ปรับปรุงจากการเสนอทางโลกไซเบอร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว หลังกรณี "สงกรานต์เลือด 2552") เรื่อง "ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย: ท่าทีและทิศทางของขบวนประชาธิปไตย" (https://arin-article.blogspot.com/2011/02/2.html) ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 6 (12) ฉบับที่ 287 วันที่ 27 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2553 เพื่อให้มองภาพความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศตามมุมมองของผู้เขียน ที่จำแนกความขัดแย้งไม่เพียงมิติเดียว
**********
ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 9 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐาน "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ในการเลือกตั้ง 2544 โดยความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างประชาธิปไตยได้ มานี้ มี 2 ชนิด หรือ 2 มิติด้วยกัน

มิติแรก ความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อรูปและดำรงอยู่กับสังคมการเมืองไทยมากว่าร้อยปี นับจากการซึมซับรับเอาการผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ นำมาซึ่งปกครองรูปแบบใหม่ของมนุษยชาติ 2 ระบอบ หนึ่งคือ "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีจุดกำเนิดใน สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ตามมาด้วย การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) และอีกหนึ่งคือ การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งก่อให้เกิดสาธารณรัฐโซเวียต อันเป็นรัฐสังคมนิยมแรกในโลก

มิติที่สอง ความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว โดยอาศัยการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" หรือแม้แต่มีความ "เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน" เพื่อแย่งชิงการเข้าไปควบคุมกลไกบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดำเนินการใช้ "งบประมาณแผ่นดินประจำปี" ทั้งนี้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่ความขัดแย้งหลักในมิติที่ 1 ได้แต่อย่างไร

ความคาบเกี่ยวของความขัดแย้งทั้ง 2 มิติหรือ 2 ชนิด นี้ จำเป็นที่พลังขับเคลื่อนทางการเมือง หรือพูดให้ถึงที่สุดสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย "ต้อง" ทำความชัดเจนให้ได้ว่า การเคลื่อนไหวในแต่ละรอบ ความขัดแย้งชนิดไหนที่เป็นความขัดแย้งหลักในเวลานั้น
**********
ทั้งนี้ ผู้เขียนยังได้แสดงจุดยืนและทัศนะต่อพัฒนาการทางการเมืองในประเทสไทยไว้หลายกรรมหลายวาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้ง" ซึ่ง "ไม่เป็นที่ต้อนรับ" ของขั้วอำนาจที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันที่ก่อรูปขึ้นจากปี พ.ศ. 2548 อันเป็นช่วงเวลาที่ ชีวิตทางการเมืองของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุดสำหรับการเมืองในระบอบรัฐสภาไทย

ผู้เขียนเห็นว่า จากการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" อันยิ่งใหญ่นั้น เป็นการพัฒนาและการก่อรูปของขบวนนิสิต นักศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมาขยายลงสู่ระดับนักเรียนมัธยมและประชาชนทั่วไปนั้น มองเห็นเฉพาะบริบท "รัฐธรรมนูญ" ที่ขาดหายไปหลังจาก การรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผ่านการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการเรียกขานว่า "รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลก" โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2502 ตาม ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 28 มกราคม พ.ศ. 2502 ที่ประกาศใช้และลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยสมาชิก 240 คน นี้ บัญญัติให้ "มาตรา 6 สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย"

เมื่อมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511" ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองของอดีตนักการเมืองรุ่นเก่า (ก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2500-2501) และบุคคลทางการเมืองรุ่นใหม่ ดาหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้งการอย่างคึกคัก แม้แต่ จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติที่สืบทอดตำแหน่งจากจอมพลสฤษดิ์ ถึงกับตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พรรคสหประชาไทย" ลงรณรงค์แข่งขันในสนามเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งผลการเลือกตั่งครั้งนั้นปรากฏว่า ผลการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกมาเป็นที่หนึ่ง โดยได้ ส.ส.ทั้งหมด 75 คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ทั้งหมด 55 คน แต่การเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร คือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์สามารถได้ ส.ส.ทั้งหมด เป็นจำนวน 21 คน ทำให้เป็นแกนหลักในการเป็นพรรคฝ่ายค้าน

แต่แล้วรัฐบาลทหารประชาธิปไตยจำแลงก็อยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ ทันที่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ใช้กำลังทหาร "เข้ายึดอำนาจการปกครอง (ของตนเอง)" โดยแถลงในคำปรารภการยึดอำนาจไว้ว่า

"ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"
(ยังมีต่อ)

* เปลี่ยนชื่อจากบทความก่อนหน้านี้ 2 ตอน เรื่อง: "กบฏผีบุญ" ในประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการลุกขึ้นสู้ของประชาชน


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มิถุนายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8