บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (9)
อนุสาวรีย์ลูกปืน
ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเมือง จังหวัดนราธิวาส จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=395882
ดร. ธเนศ อาภรณ์สวรรณ ได้ให้บทสรุป ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย อ่านได้จาก ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=12359: ไว้ว่า:
**********
กิจกรรมทั้งหลายของจำเลยจึงถูกนำมาทำให้เป็น "การเมือง" ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่ประหลาดก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ก็เป็นการกระทำที่ "นอกเหนือรัฐธรรมนูญ" สมัยดังกล่าวไปด้วย รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาด้วยเช่นกัน ประเด็นหลังนี้ยิ่งหนักขึ้น เพราะพยานโจทก์นายหนึ่งคือนายอุดม บุณยประกอบ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ให้การว่า "ทางภาคใต้ 4 จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก" ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า "ขณะใดที่มีการกล่าวถึงศาสนานั้น ก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย" เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น "การเมือง" ไปสิ้น รวมถึงใบปลิว จดหมาย และข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย
แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของรัฐไทย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญี สุ หลงให้จำคุกมีกำหนด 7 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ 1 ใน 2 เหลือจำคุกมีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ฮัจญีสุหลงถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปีกับ 6 เดือนก่อนที่จะถูกปล่อยในปี 2495 เขาเดินทางกลับปัตตานีและทำงานอาชีพเก่าต่ออีก นั่นคือการสอนหนังสือ "การสอนของเขามีคนมาฟังเป็นจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่า มีที่มาไกลถึงยะหริ่ง และปาลัส (อยู่ทางทิศตะวันตก) และบ่อทอง หนองจิก (อยู่ทางทิศเหนือ)"
ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้ฮัจญีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทั้งหมดนั้นได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับมายังปัตตานีอีกเลย การสูญหายของฮัจญี สุหลงและพวกไม่เคยสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพยาน ไม่มีการให้ความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจ มีแต่ความรู้สึกกลัวที่หลอกหลอนสังคมปัตตานีเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของฮัจญีสุหลงและเพื่อน ๆ
บทสรุป
บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ด้วย ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยามที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาค ต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน
บทความนี้มุ่งสร้างความกระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐ แต่ฝ่ายเดียว จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฎ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน
จากการศึกษาในบทความนี้ เห็นได้ว่าผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรอง กับรัฐบาลไทย ต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี 2480 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้ รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง
ข้อแรกคือ การที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาด ระแวง และกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครอง ของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับ ชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มาก นัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด
ข้อสองคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ทรรศนะเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นได้จาก ความเห็นของศาลเมื่อตัดสินว่าพฤติการณ์ของฮัจญีสุหลงในทางศาสนาและอื่น ๆ ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการไทยมองว่า การปฏิบัติหรืออ้างถึงศาสนาในฝ่ายมุสลิมนั้น แท้จริงแล้วคือมีจุดหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ
นักวิชาการอธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐว่ามาจาก การมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกัน ในทางเป็นจริงนั้น ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้น ขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการ มุสลิมว่า เป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป
จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ (ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลาง เป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19 -25 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน