Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (86)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (7)

จาก http://fathonisia.blogspot.com/2013/01/haji-sulongtokoh-perjuangan-patani.html

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปในตอนท้ายบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์มติชน ดังนี้:
**********
คำถามใหญ่จึงได้แก่ว่า รัฐชาติจะยอมรับความเป็นตัวของตัวเองของชนชาติส่วนน้อยไหมและรับได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้นถึงจะตอบได้ว่าทำอย่างไรชนชาติส่วนน้อยถึงจะช่วยในการสร้างและรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ได้

ดังที่ได้เกิดปัญหาขัดแย้งมาแล้วในอดีต ระหว่างจุดยืนของรัฐกับของชนชาติ เมื่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ได้ทำการจับกุมคณะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลงต่อในข้อหา "ตระเตรียมและสมคิดกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" ในปี พ.ศ. 2491 หลักฐานสำคัญคือคำขอ 7 ข้อกับหนังสือฉันทานุมัติ อันเป็นจดหมายที่เขียนถึงตนกูมะไฮยิดดิน เพื่อมาเป็น "หัวหน้าของ 4 จังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล" ทำการปกครองโดยใช้กฎหมายอิสลาม โดยตัวของมันเองเอกสารคำขอ 7 ข้อและหนังสือเชิญตนกูมะไฮยิดดินไม่อาจถือว่าเป็นการขบถได้ แต่ที่ศาลถือเป็นหลักฐานในการลงโทษได้แก่ "ข้อความในใบมอบฉันทานุมัติ เป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความดูหมิ่นรัฐบาลและข้าราชการแผ่นดิน ทั้งได้กระทำให้ปรากฏแก่หมู่ประชาชนแล้ว นายหะยีสุหลงจำเลยก็ต้องมีความผิดฐานขบถภายในพระราชอาณาจักรตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 104" (ธเนศ, 2549, 150)

ที่น่าแปลกใจคือคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ตีความหนังสือฉันทานุมัติ โดยเฉพาะในข้อวัตถุประสงค์ใหญ่ "ที่กล่าวถึงการก่อตั้งสิทธิเพื่อได้รับมนุษย์ธรรม...หนังสือฯ ก็อ้างถึงสิทธิมนุษย์ธรรม...ว่าขอให้ได้รับสิทธิชาติมลายู มิฉะนั้นแล้วถือว่าขาดมนุษย์ธรรม เพราะฉะนั้นคำขอเช่นว่าจึงเป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและบทกฎหมาย" ประกอบกับฮัจญีสุหลงระหว่างถูกคุมขังดำเนินคดี ยัง "ได้ทำการติดต่อกับบุคคลภายนอกขอร้องให้ประชุมทางโน้นดำเนินการโดยด่วน อย่าได้เฉื่อยชา เพื่อความสวัสดิภาพของประชาชน" ทำให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาลงโทษฮัจญีสุหลงให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก "เพราะเป็นการฉวยโอกาสระหว่างที่เกิดความผันผวนในจังหวัดปัตตานีทำการก่อกวนความสงบ โดยอาศัยเหตุการณ์ที่มิได้เป็นไปตามความประสงค์ของตนเป็นที่ตั้ง" (เพิ่งอ้าง).

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาถึงรูปแบบของการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องสนใจถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระบบปกครอง การพิจารณาปัญหาและการหาทางออกจึงไม่อาจบรรลุได้หากไม่มองปัญหาในองค์รวมของทั้งพื้นที่ในมิติอันหลากหลายต่างๆ ด้วย
(จบ)
**********
เมื่อศึกษาค้นคว้าความเป็นมาและความเชื่อมโยงของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ นับจากช่วงปลายยุคกรุงศรีอยุธยา ที่อาณาจักรปาตานียังคงมีความเป็นอิสระ จนถึงต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความพยายามและการดำเนินการผนวกดินแดนที่เรียกว่า "เจ้าแขกมลายู" มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร จนกระทั่งการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 สภาวะความไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจกันระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลาง กับอำนาจเจ้าเมืองเดิมในสมัยจตุสดมภ์/ศักดินา เป็นปัญหามากกว่าดินแดนส่วนอื่นของสยาม ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับศูนย์กลางการปกครองในกรุงเทพฯ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีมารากเหง้ามาจากชนชาติ "ไต-ไท" เช่นเดียวกัน ยกเว้นในภาคตะวันตก

จนถึงห้วงเวลาของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ที่มีความาพยายามในการสถาปนาการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ความแพร่หลายของแนวคิดทางด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องเสรีภาพ และความยุติธรรมในการปกครองที่เห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการปกครองในอดีต ก่อรูปและขยายตัวมากขึ้น

การทำความเข้าใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคเริ่มมีขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญ คือ นายแช่ม พรหมยงค์ ก็เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คณะราษฎร) สายพลเรือน ซึ่งส่งผลดีต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองรัฐสยาม/ไทย ในส่วนกลางและเป็นชาวไทยพุทธ กับผู้นำชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ที่สืบทอดกันมาจากสมัยเจ้าเมืองเดิมที่เป็นชาวไทยมุสลิม คนสำคัญคือ ฮัจญีสุหลง หรือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา พระโอรสในสุลต่า (หรือรายา) องสุดท้ายแห่งนครรัฐปัตตานี ตวนกู อับดุลกาเดร์ กามารูดดีน

แต่แล้วความพยายามในการดำเนินการเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ ที่สามารถทำให้ราษฎรสยาม/ไทยต่างเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ก็มีอันสิ้นสุดลงอันเป็นผลมาจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งอันที่จริงปัญหาเริ่มก่อหวอดในสมัยรัฐบาล (หลังสงคราม) นายควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ดำเนินการเรียกร้อง 7 ประการต่อไป แต่คำตอบที่ได้จากรัฐบาลควงยิ่งแย่กว่าสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสียอีก โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลมีปัญหาอื่นๆ จำนวนมาก อีกทั้งปัญหาของมลายูมุสลิมนั้นก็สั่งสมมาเป็นเวลานาน ถ้าจะรอไปอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

เป็นไปได้ว่าในระยะปลายปี 2490 ฮัจญีสุหลงและคณะคงรู้แล้วว่า ความหวังในการเจรจากับรัฐบาลควงไม่มีอีกต่อไปแล้ว อาวุธสุดท้ายที่มีอยู่คือการรณรงค์ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป การบอยคอตรัฐบาลกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายมุสลิมไปโดยมีน้ำหนักทางศาสนาอยู่ด้วย

ในที่สุดรอยร้าวระหว่างระบอบการปกครองหลังการรัฐประหาร 2490 กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี ก็นำไปสู่การเกิดกรณี "กบฏดุซงญอ"

หลังจากการปะทะที่ดุซงญอผ่านพ้นไป ความรุนแรงและผลสะเทือนของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมลายูประมาณ 2,000 ถึง 6,000 คนหลบหนีออกจากฝั่งไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในฝั่งมลายา ต่อจากนั้นมีชาวมุสลิมปัตตานีถึง 250,000 คนทำหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ และไปรวมกับสหพันธรัฐ มลายา ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณสี่จังหวัด และส่งกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ 3 กองลงไปยังนราธิวาส แต่ประกาศว่าภารกิจของหน่วยพิเศษนี้คือการต่อสู้กับ "พวกคอมมิวนิสต์" (ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ; จาก ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย, http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=12359)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5 -11 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8