บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (3)
นายปรีดี พนมยงค์ ที่สองจากขวา
(สมาชิกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ 2489
ซึ่งสิ้นสุดลงหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2489) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่สองจากซ้าย
(ประธานคณะอภิรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ 2490)
ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน เขียนต่อไปถึงการเสนอวิธีการในการรักษาความเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไว้ดังนี้:
**********
ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ ท่านปรีดีเสนอว่าให้ศึกษาและพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ ดังนี้1. วิธีการแบบของประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังมีพระราชาธิบดีในฐานะประมุขของชาติอยู่ แต่ปัญหาไม่ใช่ความผิดของประมุขเหล่านั้น ที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไม่ได้ "แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องที่นั้นๆ เอง และที่สำคัญก็คือรัฐบาลและชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชน ว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่"
2. วิธีเผด็จการแบบนาซี หรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเลอร์ใช้กำลังรวมคนออสเตรีย ที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันครั้งที่ 3 ก็ไม่อาจทำให้คนออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้ จึงดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน มุสโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของอิตาลีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้นต้องเรียนหนังสืออิตาเลียนและต้องพูดภาษาอิตาเลียน และลัทธิทหารญี่ปุ่นในภาคอีสานของจีน (แมนจูเรีย) เป็นต้น
3. วิธีการสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ แต่ละแขวงมีสิทธิปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเองแล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏว่ามีชนชาติใดในสวิตเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกคนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
4. วิธีการแบบประชาธิปไตย ตามหลักที่ประธานาธิบดีลิงคอล์นให้ไว้คือการปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเอง ที่รักษาเอกภาพของราษฎรจึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ "วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในความต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อนคือมีระบบการเมืองดังกล่าวนั้น แล้วรัฐบาลแห่งระบบนั้นก็ดำเนินแก้ไขสมุฏฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจให้ราษฎรถ้วนหน้า มีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น"
**********
แม้ว่าการเสนอแนวคิดดังกล่าวจะผ่านล่วงมาเป็นเวลาประมาณ 60 ปีแล้ว แต่โดยข้อเท็จจริงของสถานการณ์โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่กระแสการต่อสู้/เรียกร้องเอกราชของประชาชติที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น/ดินแดนอาณานิคมของลัทธิล่าอาณานิคมเก่า และที่สืบเนื่องจนถึงยุคสงครามเย็นที่แผ่ขยายอิทธิพลลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตในเวลานั้นจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 กับค่ายทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ผู้ประกาศความเป็นพี่เบิ้มใหญ่ของโลกเสรี มีความแหลมคนยิ่งขึ้นทุกทีที่สำคัญ ประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าเหล่านั้น ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อให้ประชาชาติ (ที่ดูเหมือนจะมี) เอกราชใหม่ ไม่สามารถสร้างเอกภาพภายในชาติและพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นที่เห็นในหลายภูมิภาคของโลก โดยสามารถเห็นเห็นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านเอเชียของเราเอง เช่นทางตะวันออกของไทยในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม (ซึ่งแบ่งแยกแผ่นดินเป็นภาคเหนือและภาคใต้ที่เส้นขนานที่ 17) หรือทางตะวันตกคือพม่าและภูมิภาคชมพูทวีปที่ประกอบด้วยอินเดียและการเกิดประเทศปากีสถาน (ที่แม้จะถูกคั่นกลางจนเป็นปากีสถานตะวันตก และปากีสถานตะวันออกหรือในปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ) หรือภาคใต้ของแหลมสุวรรณภูมิคือมลายู (และการเกิดสาธารณรัฐสิงคโปร์) ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ผลก็คือ การเมืองภายในประเทศไม่สงบ มีการก่อการร้าย และสงครามระหว่างชนชาติเดียวกัน จนแม้ในปัจจุบันยังหลงเหลือสถานการณ์ดังกล่าวให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่ในบางประเทศ
ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวทางที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตนายกรัฐมนตรีจะพบว่ามีความสอดคล้องกับหลัก "สิทธิอัตวินิจฉัยประชาชาติ" ที่ให้ "ชนชาติส่วนน้อย" ในขอบเขตทั่วประเทศ ที่เป็น "ชนชาติส่วนใหญ่" ในภูมิภาค สามารถกำหนดชะตากรรมของตนโดยสอดคล้องกับชาติพันธุ์ วัฒนธรรม คติความเชื่อและศาสนา โดยยังคงพื้นฐานในความเป็นชาติใหญ่ ภายใต้กฎหมายแม่บทหรือรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน อันเป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ใช้ได้ผลและสอดคล้องที่สุด ต่อการรักษาทั้งความเป็นเอกภาพแห่งชาติบนความแตกต่างทางประชาชาติ และความสามารถในการอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาประชาชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังประเทศแม่แบบในลักษณะที่ 1, 3 และ 4 ตามแนวคิดของนายปรีดีดังกล่าวข้างต้น
ในตอนท้ายเพื่อเป็นการสรุปแนวคิดและการเสนอทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนว่า:
**********
ท่านปรีดีได้วิจารณ์แนวทางการรักษาเอกภาพของชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ว่าเป็นวิธีการแบบจิตนิยม คือ อาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกโลกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบบการเมืองประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิตโดยไม่กังวลถึงสภาพเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่ ย่อมมีจิตในการค้นคว้าหาชีวปัจจัย ในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้วไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่าอาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ (ปรีดี พนมยงค์, 2526, หน้า 130)
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน