Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (84)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (5)

ประกาศรัฐนิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีลักษณะกีดกัน บังคับให้ชนชาติส่วนน้อยในประเทศต้อง "แต่งตัว" ตามคำสั่งของทางการมีข้อห้ามเรื่องการโพกหัว สวมหมวกแขก และรวมทั้งการนุ่งโสร่ง

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปไว้ในตอนท้ายของบทความ ต่อจากนั้น ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน โดยเป็นการวิเคราะห์เฉพาะในส่วน "คำร้องขอ 7 ข้อ" ไว้ว่า:
**********
หากวิเคราะห์แนวความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนมลายูมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทยตามคำร้องขอข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าฝ่ายคนมลายูมุสลิมให้ความสำคัญไปที่ปัญหาการปกครองเป็นอันดับแรกและเป็นข้อต่อที่สำคัญยิ่งในการจัดการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา คำขออันแรกที่ให้มีการเลือกตั้ง "ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง" โดยคนมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ และให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์ คำถามคืออำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้มีอำนาจในทางปกครองทางโลกวิสัยอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ดูอย่างเผินๆ เหมือนกับจะไม่ได้มีบทบาทในระบบปกครองและการเมืองของรัฐบาลกลางในพื้นที่มลายูมุสลิม นอกจากเรื่องทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ถ้าความประสงค์ในสมัยโน้นเป็นไปตามการสันนิษฐาน คำถามต่อมาก็คือแล้วผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้จะเอาอำนาจอะไรในการ "แต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์" หรือว่าข้าราชการที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกงานราชการออกจากการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม ในเอกสารอีกชิ้นที่ นางบาร์บารา วิตทิ่งนั่ม โจนส์ อ้างว่าได้มาจากฮัจญีสุหลง และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) มีความว่า
"ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัดและได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง"
ถ้าพิจารณาจากต้นฉบับอันหลังนี้ คำถามข้างต้นนี้ก็หมดไป เพราะระบุไว้ชัดเจนว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง" นี้ต้องมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดชายแดนใต้ และมีอำนาจในการปลด ย้ายข้าราชการของรัฐบาลได้ทั้งหมด ดังนั้นในปัญหาแรกว่าด้วยการปกครอง หากยึดตามความเห็นของผู้นำมลายูมุสลิมสมัยโน้น ก็คือต้องการให้มีผู้แทนของคนมลายูมุสลิมและเกิดในดินแดนนี้ด้วย ไม่ใช่มุสลิมจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เป็นต้น ให้ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจสูงหรือถ้าเรียกตามศัพท์ปัจจุบันก็คือตำแหน่งผู้ว่าราชการ แต่ไม่ใช่ของจังหวัดเดียว หากให้เป็นผู้ปกครองเหนือสี่จังหวัดมลายูมุสลิมใต้หมดเลย แสดงว่าต้องปรับบรรดาสี่จังหวัดดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอันเดียวกัน รูปแบบเก่าคือการจัดตั้งรวมกันเป็นมณฑล ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้วิจารณ์คำขอข้อนี้ว่าเป็นการกลับไปหาระบบเก่าคือมณฑลที่ได้เลิกไปแล้ว ในสภาพปัจจุบันคำขอดังกล่าวนี้อาจปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ประเด็นใจกลางคือการเลือกตั้งผู้นำอย่างสูงในพื้นที่มลายูมุสลิม โดยคนมลายูมุสลิม และต้องมาจากคนมลายูมุสลิมเองด้วย จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จะนำไปสู่จุดหมายอะไรในระบบการปกครองประชาธิปไตย

นโยบายอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา และการศาสนา ล้วนมุ่งไปสู่การให้คนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีโอกาสและเป็นเจ้าของตนเองคือมีอำนาจอธิปไตยเหนือร่างกายและสังคมของพวกเขากันเอง แนวทางและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้มีรากเหง้ามาจากขบวนการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมของบรรดาผู้ที่ตกเป็นอาณานิคมทั้งหลาย ด้านหนึ่งคือการสลัดจากแอกของอำนาจปกครองที่มาจากเจ้าอาณานิคม อีกด้านคือการปรากฏขึ้นของความเรียกร้องต้องการทางใจของคนที่เป็นอาณานิคม ซึ่งต่อมาก็คืออุดมการณ์ว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยและสิทธิมนุษยชน อันแสดงออกในนโยบายเรื่องการแยกศาลศาสนาอิสลามออกจากศาลไทย การใช้ภาษามลายูในการเรียนระดับประถม ส่วนภาษาราชการและการติดต่อราชการให้ใช้ทั้งภาษาไทยและมลายู และรายได้ เช่น จากการเก็บภาษีในพื้นที่ให้ใช้จ่ายในสี่จังหวัดภาคใต้เท่านั้น คือไม่ส่งไปให้ส่วนกลาง

ทั้งหมดนั้นเป็นความคิดเห็นและได้นำเสนอไปยังรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในปี พ.ศ. 2490 ก่อนเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคณะและกลุ่มผู้นำในรัฐบาลอย่างรุนแรง คำขอทั้ง 7 ข้อข้างต้นจึงไม่มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างจริงจังว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ ทางเลือกอื่นมีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปการแลกเปลี่ยนสานเสวนาระหว่างรัฐบาลสยามกับแกนนำขบวนการปัตตานีในปัญหาการเมืองที่อ่อนไหวและกระทบโครงสร้างของรัฐไทยอย่างสันติและสมานฉันท์ได้มลายสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเยื่อใย นับจากวันนั้นถึงวันนี้
**********
ต่อจากนั้น ในเว็บไซต์เดียวกันของหนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 อันเป็นส่วนวิเคราะห์โดยตัวผู้เขียน ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ดังนี้
**********
วิเคราะห์ทัศนะของ ปรีดี พนมยงค์ และฮัจญีสุหลง

จากหลักฐานและการเคลื่อนไหวปฏิบัติงานต่างๆ ในทางการเมืองการปกครองของบุคคลทั้งสอง กล่าวได้ว่าทั้งฮัจญีสุหลงและปรีดี พนมยงค์ ต่างมีทรรศนะตรงกันในการยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐชาติหรือประชาชาติ (national state, nation-state) เห็นด้วยในหลักความชอบธรรมของรัฐชาติ การรวมเอาคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาเข้ามาอยู่ด้วยกันเป็นองคาพยพเดียวกัน เพื่อไปบรรลุจุดหมายในการปกครองและสร้างความก้าวหน้าความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทุกชนชาติในรัฐชาตินี้ ในหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" (พ.ศ. 2549) ผมได้สรุปลักษณะสำคัญของการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงในบริบทของการสร้างรัฐชาติสยามนับแต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 มาจนถึงปี พ.ศ. 2490 ไว้ดังนี้

"ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง 7 ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม"
(ยังมีต่อ)

หากจะมองความเรียกร้องต้องการในการปกครองตนเองภายใต้อำนาจรัฐบาลกลาง หรือแม้กระทั่งการแบ่งแยกดินแดน จะเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากจุดยืนของรัฐไทยกับทัศนะ "คับแคบ" ในบริบท "ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้" ดูเหมือนมีความคาบเกี่ยวกับปัญหาไอร์แลนด์เหนือที่เป็นแคทอลิกที่ต้องการแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักรที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ เพื่อไปรวมกับประเทศไอร์แลนด์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8