Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (83)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (4)

ปอเนาะัตตานี: ก่อนที่รัฐบาลสยามผนวกพื้นที่สุลต่านปัตตานี 1902 (พ.ศ. 2455) ปัตตานีได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการเรียนรู้อิสลามกับนักเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปอเนาะ(Pondok) ปัตตานี ก่อนที่จะเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อการศึกษาอิสลามขั้นสูง (จาก http://malay--history.blogspot.com/2013/02/history-of-pondok-and-madrasah.html)

ต่อจากนั้น ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน ยังเขียนถึง ทัศนะของฮัจญีสุหลง อันเป็นการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" ซึ่งนับได้ว่าสำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไว้ดังนี้:
**********
กล่าวได้ว่าผู้นำของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางเท่ากับฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา (พ.ศ. 2438-97) หลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาศาสนาอิสลามจากเมืองเมกกะ กลับมาเป็นผู้นำศาสนาหัวก้าวหน้าในปัตตานีกระทั่งเข้าร่วมเป็นผู้นำสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนมลายูมุสลิมในช่วงที่ประเทศสยามก็มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในทางประวัติศาสตร์ ฮัจญีสุหลงจึงนับได้ว่าเป็นปัญญาชนก้าวหน้าร่วมสมัยกับบรรดาปัญญาชนของคณะราษฎรคนหนึ่ง แต่ทำการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอยู่ในปัตตานีอันเป็นหัวเมืองภาคใต้สุด ฮัจญีสุหลงพบจุดจบก่อนกาลอันควรภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เริ่มด้วยการถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏ หลังจากได้รับอิสรภาพก็ถูกสันติบาลสงขลาเรียกตัวไปสอบสวนแล้วหายสาบสูญไปนับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 (เฉลิมเกียรติ, 2547)

ความคิดและทัศนะของฮัจญีสุหลงต่อปัญหาการต่อสู้ของคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรวบรวมได้จากข้อเขียน คำเรียกร้องและการปราศรัยในสถานที่ต่างๆ โดยรวมแล้วเป็นความคิดเห็นร่วมกันของบรรดาแกนนำคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดต่อปัญหาของพวกเขาเองในขณะนั้น โดยที่ฮัจญีสุหลงทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ติดต่อกับทางการสยามมากที่สุด เหตุหนึ่งเนื่องจากชื่อเสียงของฮัจญีสุหลงเป็นที่สนใจและติดตามของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด หลักฐานที่เป็นเอกสารที่ให้ภาพของปัญหาและทางออกต่อปัญหามลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ดีที่สุดได้แก่เอกสารที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" (โดยทั่วไปเอกสารเรื่องนี้มักเรียกว่า "คำเรียกร้อง 7 ประการ" หรือ "ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ" อันเป็นการนำเสนอจากมุมมองและความเรียกร้องต้องการของคนมลายูมุสลิม แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และฐานะในการต่อรองของราษฎรเหล่านั้นกับทางการสยาม ก็จะเห็นได้ว่าการเจรจาและการเสนอความต้องการของราษฎรต่างๆ นั้น กระทำไปโดยการที่ฝ่ายราษฎรยังเป็นผู้ร้องขอ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเอาอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่สภาพที่เป็นจริงของโครงสร้างอำนาจในสังคมสยามสมัยนั้น ในที่นี้ผมจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งในเอกสารของฝ่ายรัฐบาลสยามก็ระบุว่า การเจรจาต่อรองครั้งนั้น เป็นการ "ร้องขอ" ของราษฎร)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กลุ่มมุสลิมในปะตานีมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ "การแบ่งแยกดินแดน" เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ผู้นำการเมืองของคนปะตานีคนสำคัญที่ถูกจับกุมคือฮัจญีสุหลง

ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" โดยฝ่ายมุสลิมภาคใต้ กลายเป็นเอกสารแสดงว่าพวกหัวรุนแรงมุสลิมต้องการ "แบ่งแยกดินแดน" ในทางประวัติศาสตร์นั้น การเกิดขึ้นของคำร้องขอดังกล่าวมาจากการเจรจาสองฝ่าย ระหว่างตัวแทนรัฐบาล (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในขณะนั้น) กับคณะผู้นำมุสลิมที่ปัตตานี จนได้ข้อเสนอเบื้องต้น 7 ข้อดังกล่าว และส่งให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะรับได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คนรุ่นหลังไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยก็คือ การที่รัฐบาลในอดีตนั้นได้มีการติดต่อและเจรจากับผู้นำมุสลิมปัตตานีมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กระทั่งเกิดมีคำร้องขอ 7 ข้อขึ้นมา

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตาน๊
เมษายน พระพุทธศักราช 2490

การประชุมในวันนี้พร้อมกับมติขอให้รัฐบาลพิจารณาให้เปนไปตามคำร้องขอดังต่อไปนี้ กล่าวคือ
  1. ขอให้มีการปกครองใน 4 จังหวัดปัตตานี สตูล ยะลา นราธิวาสโดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง ให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์ และให้ออกโดยเหตุประการต่างๆ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัดนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ โดยจะให้มีกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งตามทางราชการก็ได้
  2. ข้าราชการแต่ละแผนกใน 4 จังหวัดนี้ให้มีอิสลาม 80 เปอร์เซ็นต์ประกอบอยู่ด้วย
  3. การใช้หนังสือในราชการให้ใช้ภาษามลายูและให้ควบกับภาษาไทยด้วย เช่น แบบฟอร์ม หรือใบเสร็จต่างๆ จะต้องให้มีภาษามลายูใช้ด้วย
  4. การศึกษาโรงเรียนชั้นประถมให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอดประถมบริบูรณ์
  5. ขอให้มีศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกออกจากศาลจังหวัดที่มีแล้ว มีโต๊ะกาลีพอสมควรและมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความโดยจะฟังเสียงผู้ใดไม่ได้ นอกจากผิดหลักกฎหมาย
  6. ผลประโยชน์รายได้ต่างๆ จะต้องใช้จ่ายในภาค 4 จังหวัดนี้ โดยไม่แบ่งจ่ายให้แก่ที่อื่นเลย
  7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนี้มีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนาอิสลามโดยเห็นชอบผู้มีอำนาจสูง (ตามข้อ 1)
หะยีโมง เก็บอุรัย ผู้บันทึก
รองประธานคณะกรรมการอิสลาม
สำเนาถูกต้อง
   ลายเซ็นอ่านไม่ออก
**********
ประเด็นที่น่าสนใจ ที่จำเป็นสำหรับรัฐประชาธิปไตยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ที่ "น่าจะ" และ "จำเป็นต้อง" สร้างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ "ชนชาติส่วนน้อย" (ของประเทศ) หากเป็น "ชนชาติส่วนใหญ่" (ในภูมิภาค) นั้น ย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบและเนื้อหาการเมืองการปกครองที่ครอบคลุมทั้ง "ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม" ซึ่งหากพิจารณาจาก "คำเรียกร้อง 7 ประการ" แล้ว แม้ว่าจะยังมีระยะห่างพอสมควรกับ "สิทธิอัตวินิจฉัยทางประชาชาติ" หากสะท้อน "จุดยืน" อย่างมีนัยสำคัญที่ชี้ว่า "ผู้นำมุสลิม" มีความจริงใจต่อการอยู่ร่วมในฐานะ "เป็นหนึ่งเดียว" กับ "รัฐไทย" เพียงแต่ต้องการการยอมรับใน "ความต่าง" บนพื้นฐานหลักศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อและเป็นวัฒนธรรมที่สืบท้อนกันมาช้านานก่อนยุครัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำไป ซึ่งทั้งนี้ย่อมต้อง "ไม่ละเมิดต่อหลักกฎหมาย".
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8