Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (81)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (2)

นายปรีดี พนมยงค์ ชุดสูทสีขาวถือไม้เท้าหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ยืนกลางคือพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบกอาวโส

บทความชิ้นต่อมา (จากเดิม 2 ตอนจบ) "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน เป็นการนำเสนอแนวคิด 2 ด้านต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ด้านแรกคือภาครัฐ และด้านที่สองคือภาคท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของประชากรหลักซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ขออนุญาตคัดบางส่วนมานำเสนอซ้ำ ดังนี้:

ทัศนะของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาชนชาติกลุ่มน้อย

ท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้นำของคณะราษฎร นายกรัฐมนตรี ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส ได้เขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ระหว่างลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2515 บทความ "ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย" เสนอข้อสังเกตและความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญยิ่งอันหนึ่งในเรื่องของการสร้างรัฐชาติและรักษารัฐชาตินี้ให้ดำรงและก้าวรุดหน้าไปอย่างสงบสันติ กล่าวอย่างเจาะจงบทความดังกล่าวได้เสนอทางออกให้แก่ปัญหาที่เรียกว่าการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลของชนกลุ่มใหญ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย

มูลเหตุของการเกิดการต่อสู้เพื่อแยกตนเป็นเอกราชในบรรดารัฐและชาติต่างๆ สรุปได้ว่ามาจากปัญหาใจกลางเดียวคือ เพราะรัฐบาลกลางในประเทศต่างๆ นั้นไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวเมืองต่างๆ คือเกิดความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรมในการปกครองและการปฏิบัติต่อชนชาติต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆ นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มชนชาติ เงื่อนไขของการเกิดการต่อสู้จึงไม่ใช่เพียงแต่มีความไม่พอใจในหมู่ชนชาติส่วนน้อยเท่านั้น หากแต่ที่สำคัญคือการเกิดมีสิ่งที่ท่านปรีดีเรียกว่า "ความรักปิตุภูมิท้องที่" (Local Patriotism) ความสำนึกในท้องที่นั้นเกิดขึ้นมานับแต่ยุคสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย (ฟิวดัลในยุโรป) ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป็นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลเหนือชาวบ้านและข้าราชการขุนนางทั้งปวง รัฐศักดินาต้องการขยายพระราชอำนาจ วิธีการที่ใช้กันคือการรวมชาติเล็กน้อยเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่า วิธีการแรกคือด้วยการรบพุ่งโจมตี วิธีการที่ 2 คือการคุกคามให้เกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ "วิธีรวมชาติต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้นราษฎรของชาติที่ถูกรวมเข้ากับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่มากน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ" (ปรีดี พนมยงค์, 2526, 127)

ประการต่อมาเมื่อกลุ่มชนต่างๆ ภายในชาติหนึ่งๆ ยังคงมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ บางกลุ่มอาจเบาบางเพราะกาลเวลาล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยปี บางกลุ่มอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน "และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะ ต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาที่แตกต่างกับชนส่วนข้างมากของชาติ ก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก" (อ้างแล้ว)
**********
จะเห็นว่าด้วยจุดยืนและทัศนะประชาธิปไตยที่ไปพ้นอคติทางเชื้อชาติและอคติชนชาติส่วนใหญ่ปกครองชนชาติส่วนน้อยอย่างบีบคั้น ทำให้กระบวนการคิดพิจาณาและแนวทางการแก้ปัญหาชนชาติส่วนน้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะพิเศษที่ "ชนชาติส่วนใหญ่ในท้องถิ่น ที่เป็นชนชาติส่วนน้อยในขอบเขตรัฐประชาชาติ" สามารถดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายมาตรฐานเดียวและมีลักษณะเฉพาะตามหลักศาสนา โดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

จากนั้นผู้เขียน คือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ยังได้ยกกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยาม (ในสมัยสมบูรณาญาสิทิราชย์) กับชนชาติอื่นๆ ในราชอาณาจักร ทั้งในภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอิสาน จนเกิดการแข็งข้อเป็นกบฏ อาทิ กรณี "ราชาแห่งปัตตานี" ในภาคใต้, กรณี "ผีบุญบ้า" ในภาคอีสาน และกรณี "เงี้ยว" ในภาคเหนือ:
**********
ท่านปรีดีได้ยกกรณีของไทยมาอธิบายเพิ่มเติมด้วย เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆ แห่งมลายาตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรและชาวอีสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริง จึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าเราถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งสืบสายมาจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตนาคณหุตได้ทำการยึดดินแดนอีสาน เพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาวฟื้นอาณาจักรศรีสตนาคณหุตขึ้นมาอีก

ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี "ผีบุญบ้า" ในภาคอีสาน กรณี "เงี้ยวในภาคพายัพ" กรณี "ราชาแห่งปัตตานี" ชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่ที่พิษณุโลก แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาปัตตานีแล้วก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวัง จากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาทชื่อตวนกูโมหะยิดดินนั้น ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขอรวมอยู่ในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดียของอังกฤษ เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเป็นเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้ และดื่มให้พรว่า "Long Live the King of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาไทยอีกโดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน (เพิ่งอ้าง, 128)
**********
ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษาลงไปในรายละเอียด น่าจะมีปมเงื่อนอยู่ในบริบทการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการอภิวัฒน์ 2475 คือเชื้อสายผู้ครองนครปาตานี มีท่าทีเชิงบวกต่อการระบอบการปกครองใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ ถึงกับยินดีจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร แม้ว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะมีความเห็นหรือด่วนสรุปว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้จะหมดไป แต่อย่างไรก็ตาม การปกครองในระบบเผด็จการทหารและรัฐบาลจากการรัฐประหาร กับการฉีกรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่เพียงกดขี่ชนชาติส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ แต่ยังผลักดันราษฎรจำนวนมากให้เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์สยามหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8