Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (85)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (6)

สองจอมพลผู้ได้อำนาจการปกครองมาจากการทำรัฐประหาร จอมพล  ป.พิบูลสงคราม และ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น)

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทวิเคราะห์และบทสรุปในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์มติชน ต่อไป (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53) ว่า:
**********
ในแง่นี้ผมมองการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะว่า เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม (print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้ (imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights) อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง

ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ (space) อันใหม่ที่เอื้อต่อการเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วย ว่าเราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วย ว่าในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ" (น. 59-60)

ทั้งท่านปรีดีและฮัจญีสุหลงไม่ได้เสนอรูปแบบของการปกครองแบบพิเศษในพื้นที่ชนชาติส่วนน้อย ในที่นี้หากอนุโลมตามความเห็นและเป้าประสงค์ที่ทั้งสองท่านต้องการในการแก้ปัญหาของชนชาติส่วนน้อยในรัฐชาติ เราอาจนำเอารูปแบบของระบบการปกครองพิเศษทั้งหลายในประเทศต่างๆ มาพิจารณาได้ รูปแบบของการปกครองพิเศษในเขตชนชาติส่วนน้อยนั้นก็คือแบบการปกครองตนเองอย่างหนึ่ง (self-government) ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของดินแดน (territory) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation of the population) และการควบคุมโดยรัฐบาล (control by a government) ในกรณีของพื้นที่มลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้นั้น เนื่องจากเคยมีประวัติของการปกครองโดยท้องถิ่นภายใต้ระบบกษัตริย์หรือสุลต่าน มีศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูอันเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนและพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน จึงควรพิจารณาค้นหารูปแบบและวิธีการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น เช่น สภาซูรอ เป็นต้น

ปัญหาแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยกับรัฐชาติ รูปแบบต่างๆ ของการปกครองตนเองมีตั้งแต่การเป็นดินแดนในอารักขา (dependent territory) จนถึง การเป็นดินแดนปกครองตนเองเต็มที่ (territory autonomy) ระหว่างกลาง ได้แก่ การเป็นสหพันธรัฐ (Federation) สมาพันธรัฐ (Confederation) เขตสงวน (Reservation) คอนโดมิเนียม (Condominium) และรัฐพันธสัญญา (Associated State) ประเด็นคือรัฐชาติสมัยใหม่ส่วนใหญ่ตระหนักว่าการเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประชากรและเชื้อชาติทั้งหลายในรัฐสมัยใหม่ การแก้ปัญหาชนชาติส่วนน้อยในระยะยาวจึงจำเป็นต้องแก้หลักการข้อนี้ด้วย

ปัญหาที่ 2 คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่การยอมรับหลักการปกครองของระบบประชาธิปไตย ที่สำคัญคือในด้านเนื้อหาคือการมีส่วนร่วม การมีสิทธิมีเสียงและความเสมอหน้าของประชากรไปถึงการควบคุมและถอดถอนเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองได้ ไม่ใช่แต่ในทางรูปแบบของการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น ในกรณีของมลายูมุสลิมภาคใต้อาจใช้รูปแบบสภาซูรอทำหน้าที่เหมือนสภาผู้แทนพื้นที่ กำกับควบคุมฝ่ายปกครอง

ประการสุดท้าย คือ แบบการปกครองพิเศษนี้จะมีอำนาจในการปกครองมากน้อยเพียงไร อำนาจของรัฐบาลกลางจะมีในเรื่องใดบ้าง ข้อนี้จึงสัมพันธ์กับการจัดการในข้อแรกว่าด้วยฐานะและสัมพันธภาพระหว่างพื้นที่ชนชาติกับรัฐชาติ

ถ้ามองจากทัศนะของท่านปรีดีในเรื่องปัญหาชนชาติส่วนน้อยกับรัฐชาตินั้น จุดยืนและน้ำหนักทางการเมืองที่ให้แก่แนวทางในการไปบรรลุเป้าหมายทางการเมืองคือของผู้นำรัฐบาลกลาง น้ำหนักที่ให้จึงได้แก่ความเป็นเอกภาพของชาติ ให้ความสำคัญไปที่ทัศนะของผู้นำส่วนกลางและคนส่วนข้างมากที่ไม่มีความเข้าใจและเห็นใจในสภาพการณ์ของชนชาติส่วนน้อย จึงเป็นไปได้ว่าท่านจะให้ทางออกไปที่การสร้างโครงสร้างอันเป็นของคนมลายูมุสลิมมากขึ้น เช่น การออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คนมุสลิมสามารถเข้าร่วมในกิจการศาสนาของตนเองได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องการจัดการดูแลด้านศาสนาเท่านั้น ภารกิจด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน เช่น การศึกษาและเศรษฐกิจและปัญหาการปกครองความยุติธรรมก็ยังคงอยู่กับรัฐบาลกลาง

ตรงนี้จะเป็นจุดแตกต่างกับแนวความคิดและความต้องการของฮัจญีสุหลงและประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานระหว่างรัฐปะตานีกับสยาม การมีภาษาและศาสนาที่แตกต่างจากส่วนกลาง ทำให้ความรักปิตุภูมิท้องที่ของคนมลายูมุสลิมมีหนาแน่นมาโดยตลอด และได้รับการตอกย้ำจากการใช้นโยบายการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงในพื้นที่บ่อยๆ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันของความเป็นคนเชื้อชาติมลายูที่หนักแน่น แบบการปกครองพิเศษจึงต้องสามารถเข้ามาจัดการและดูแลเรื่องความปลอดภัย คดีความ ไปถึงการศึกษาและเศรษฐกิจของพื้นที่กันเองได้ด้วย จึงคิดว่าโครงสร้างระบบการปกครองพิเศษในพื้นที่มลายูมุสลิมคงต้องมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการปัญหาต่างๆ มากกว่าเพียงด้านศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น.
(ยังมีต่อ) 

สำหรับการศึกษาค้นคว้าปัญหาที่มีรากเหง้าและเรื้อรังมาช้านาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวระดับสูงอย่าง "จังหวัดชายแดนใต้" นี้ สิ่งที่จะต้องคำนึงยิ่งกว่าบริบททางประวัติศาสตร์ คือการคลี่คลายขยายตัวของปัญหาความขัดแย้งที่มีลักษณะต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 และ 20 ตุลาคม 2501 ที่อาจจะแฝงความรุนแรงมายิ่งขึ้นด้วย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 มีนาคม-4 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8