Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (30)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (13)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการแถลงข่าววันที่ 1 มีนาคม 4 วันหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 โดยมี พลโท หม่อมหลวง ขาบ กุญชร (ซ้ายสุด) ร่วมรับฟัง (ภาพถ่ายโดย John Dominis ที่มา: LIFE Picture Collection)

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (13)

เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอการคลี่คลายขยายตัวความขัดแย้งภายในหมู่ขุนศึกทั้งสามคือ "แปลก-สฤษดิ์-เผ่า" ไปจนถึงความสุกงอมของสาถานการณ์ที่นำไปสู่จุดแตกหักไว้ต่อไป (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

เพื่อลดอำนาจของเผ่า จอมพล ป. วางแผนส่งเผ่าไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการกู้เงินใหม่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่เผ่าออกเดินทางไปกรุงวอชิงตัน จอมพล ป. ก็ปรับคณะรัฐมนตรี เผ่าถูกออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง และจอมพลผินผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของเผ่าก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีอื่น ๆ ที่อยู่ฝ่ายเผ่าก็ถูกสับเปลี่ยน และแทนที่โดยพวกที่จงรักภักดีต่อจอมพล ป. และสฤษดิ์ จอมพล ป. รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและกลาโหม พร้อมทั้งประกาศว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทยจะเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจประกาศการเตรียมพร้อมทางทหารและทางตำรวจ และสั่งการเคลื่อนทัพ ยกเว้นแต่ในสภาวะสงครามหรือจลาจล จากนั้นก็มีการโยกย้ายนายตำรวจและกำลังทหารหลายหน่วยออกจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการตัดกำลังอำนาจของเผ่า

ประชาธิปไตยใหม่ของจอมพล ป. ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนโจมตีรัฐบาล กลายเป็นบทเรียนที่มีราคาแพง คำด่ารัฐบาลนั้นหนักหน่วงมาก และยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันก็เพิ่มขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายของการไฮด์ปาร์ค มีการเรียกร้องให้ถอนตัวออกจากซีโต้ จอมพล ป. และพวกไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับการรณรงค์ที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าวแม้แต่น้อย ความอดทนต่อการด่ารัฐบาลอย่างห้าวหาญก็น้อยลงทุกที ดังนั้นรัฐบาลจึงห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองทุกชนิดและจับกุมพวกอดข้าวประท้วงกลุ่มหนึ่งที่ประท้วงเรื่องการมีสมาชิกสภาแบบแต่งตั้ง ฯลฯ รัฐบาลจอมพล ป. ให้เหตุผลการห้ามการรวมกลุ่มทางการเมืองและการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อชาติ และการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์

ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์ของ "ประชาธิปไตยใหม่" ได้ปราชัย แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ก็ได้เกิดขึ้นตามกำหนดการ มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ลงแข่งกัน คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. และพรรคประชาธิปัตย์ของนายควง อภัยวงศ์

หลังการเลือกตั้งมีการประท้วงเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เรียกว่า ไพ่ไฟ และ พลร่ม การด่าว่าการเลือกตั้งสกปรกของสาธารณชนเริ่มมีมากขึ้น รัฐบาลหันไปแสดงพลังโดยการตั้งสฤษดิ์ให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย การรวมตัวกันของประชาชนทุกรูปแบบถูกสั่งห้าม บรรณาธิการหลายคนก็ถูกจับจากการเขียนบทความและคำกล่าวที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีการแสดงอำนาจของทหารเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม สถานที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ได้ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร และเครื่องบินก็บินต่ำ ๆ บนท้องฟ้าของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการข่มขู่

ท่ามกลางการแสดงพลังอำนาจของรัฐบาล กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 คน ก็ได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะต่อต้านรัฐบาล นิสิตเหล่านี้ลดธงชาติลงครึ่งเสาซึ่งเป็นการแสดงการไว้อาลัยประชาธิปไตยที่ตายไป ภายใต้การบอกแนะของสฤษดิ์ นิสิตเหล่านี้เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน นายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวเมื่อสฤษดิ์ขอให้สลายตัว และสฤษดิ์ได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์และหลังการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรก คะแนนนิยมและฐานะของจอมพล ป. เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พวกที่คัดค้านรัฐบาล และความเป็นเผด็จการและการใช้อำนาจผิด ๆ ของพลตำรวจเอกเผ่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะนั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามต่าง ๆ พยายามหาทางล้มรัฐบาลของจอมพล ป.

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ดังกล่าว พร้อมกับการเพิ่มการต่อต้านอเมริกัน ต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านจอมพล ป. และเผ่า จอมพล ป. ได้พยายามอย่างมากในการทำให้สฤษดิ์อ่อนอำนาจลง โดยการบอกให้คณะรัฐมนตรีละเว้นจากการเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการค้าส่วนตัวทุกชนิด ซึ่งเป็นวิธีที่จะตัดรายได้ซึ่งเป็นฐานอำนาจทางการเมือง สฤษดิ์ไม่แยแสต่อการขอร้องเหล่านั้น เป็นที่เห็นได้ชัดว่าความต้องการเหล่านี้ก็เป็นเพียงเพทุบายทางการเมืองของจอมพล ป. ในการที่จะทำลายอำนาจทางการเมืองและตำแหน่งทางทหารของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นและอำนาจของจอมพล ป. เสื่อมลง ความเป็นที่นิยมก็เสื่อมลง จอมพล ป. จึงพยายามรักษาอำนาจของตัวเองและพยายามลดอำนาจของสฤษดิ์อีก โดยการสั่งรัฐมนตรีทั้งหลายให้ตัดความสัมพันธ์กับองค์กรเอกชนทางการค้า สฤษดิ์ท้าทายคำสั่งของจอมพล ป. โดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรี ลูกน้องคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ก็ทำตามโดยการลาออกจากคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม สฤษดิ์ยังคงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไว้ แต่ลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลา

ในวันที่ 16 เดือนกันยายน พ.ศ.2500 สฤษดิ์จึงทำรัฐประหาร ตามรายงานข่าวว่า สฤษดิ์จับแผนการรัฐประหารของเผ่าได้ จอมพล ป. หนีไปเขมร และต่อมาก็ขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่นเมื่อ พ.ศ. 2508 เผ่าถูกส่งออกนอกประเทศและไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาเขาก็ถึงแก่อนิจกรรม

ในการปฏิบัติโดยทั่วไปในการเมืองไทยที่สฤษดิ์ไม่ได้เข้าครองอำนาจทันที พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 90 วัน แล้วจึงมีการเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังการเลือกตั้ง พลโทถนอม กิตติขจร นายทหารซึ่งไม่มีใครรู้จักมากนักก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสฤษดิ์ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาร่างกายที่โรงพยาบาลวอเตอร์หรีด ตอนหลังก็ได้ไปอังกฤษด้วยเหตุผลอันเดียวกัน และแล้วท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง การต่อสู้กันของกลุ่มภายในพรรคและในกองทัพ สฤษดิ์จึงยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นเวลาเดียวหลังจากที่ถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมทำรัฐประหารกับสฤษดิ์ รัฐธรรมนูญของปี 2495 จึงถูกยกเลิก เป็นการยุติรัฐบาลแบบประชาธิปไตย หลังจากนั้นประเทศไทยได้ถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพ่อขุนภายใต้สฤษดิ์และผู้สืบทอดคือ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 ธันวาคม 2557-9 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8