Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (31)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (14)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา ขึ้นกล่าวคำปราศรัยก่อนการรัฐประหาร 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (14)

บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ให้บทสรุปไว้ในตอนท้าย เพื่อเป็นการสะท้อนความแหลมคมของสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปลายทศวรรษ 2490 ช่วงรอยต่อการยึดอำนาจการปกครองอันยาวนานของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยหนึ่งในสองของผู้ใต้บังคับบัญใกล้ชิดและอาจไว้ใจได้มากที่สุดคือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 ไว้ดังต่อไปนี้:

จากการแสดงท่าทีของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลทำให้กรณีเรื่องนโยบายต่างประเทศเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดูไม่น่านิยมชมชื่น และเป็นจุดที่สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลมากที่สุดกรณีหนึ่ง ซึ่งใน พ.ศ. 2499 มีประเด็นหลายเรื่องที่หนังสือพิมพ์ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยต่างแสดงท่าทีคัดค้านต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม เช่น หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้วิจารณ์การที่รัฐบาลไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดการซ้อมรบขององค์การสปอ. อย่างกระทันหันไว้ว่า สถานการณ์ในเอเชียอาคเนย์ก็มิได้มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามและการรุกรานใด ๆ การซ้อมรบจึงไม่น่าที่จะเป็นเรื่องจำเป็น หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยก็วิจารณ์ว่า ทำไมรัฐบาลไทยต้องซ้อมรบตามคำโฆษณาของประเทศโลกเสรีที่โจมตีจีนแดงว่าจะรุกราน ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าจีนไม่สามารถทำได้ นอกจากจะทำสงครามป้องกันตนเอง และผู้นำจีนก็มีนโยบายผูกมิตรกับทุกประเทศอยู่แล้ว ต่อมาปรากฎว่าเรื่องนี้ได้บานปลายออกไป เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสปอ.ได้แถลงว่า เรื่องการซ้อมรบที่จะมีขั้นตอนตามกำหนดการนั้น ไทยมิได้ปรึกษาฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ในสปอ.เลย นอกจากปรึกษาแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์รายสัปดาห์ ก็ได้ลงบทนำวิจารณ์ว่า การซ้อมรบครั้งนี้ฝ่ายไทยต้องเสียเงินถึง 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟุ่มเฟือย อีกกรณีหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแทบทุกฉบับต่างวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม คือ การที่รัฐบาลแสดงท่าทีเกรงใจและแก้ต่างแทนอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิตรร่วมภาคสปอ. ในเรื่องที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยส่งกองทัพเข้าบุกและโจมตีอียิปต์ในวิกฤตการณ์คลองสุเอช ทั้ง ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกาต่างประณามการกระทำของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่หนังสือพิมพ์มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2498-2499 คือ การเรียกร้องเรื่องสิทธิประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์เริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจังภายหลังจากที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนนโยบายไปสู่ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มีการรณรงค์ว่า จอมพลป.พิบูลสงครามควรจะปฎิรูปประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้นโดยยกเลิกส.ส.ประเภทที่ 2 ตั้งแต่ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และต่อมาเมื่อรัฐบาลจับกุมกบฏอดข้าว หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสียดสีว่า เหตุการณ์เรื่องนี้เป็นเรื่องชวนหัวของประชาธิปไตยที่ว่า การที่ผู้อดข้าวประท้วงเพราะต้องการให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น กลับกลายเป็นการก่อกบฏที่จะมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต นอกจากนี้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยยังได้วิจารณ์ว่า การมีบทเฉพาะกาลและสมาชิกประเภทที่ 2 ในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย มิใช่ว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการกุมอำนาจไว้เฉพาะพรรคหนึ่งหรือรัฐบาลใดแต่เพียงอย่างเดียว ปรากฎว่าถึงเกี่ยวกับการปฏิบัติก็ไม่สามารถจะทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นไปโดยสมบูรณ์ตามความหมายที่แท้จริง

นอกจากนี้ กลุ่มหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย-สยามนิกรยังมีความตระหนักพอสมควรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ของประชาชน เพระเมื่อปลายเดือนสิงหาคาม พ.ศ.2499 หนังสือพิมพ์ได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.ธนบุรีซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวสันติภาพ เป็นส.ส.ฝ่ายสังคมนิยมในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหัวหน้าขบวนการไฮด์ปาร์ค ได้ตัดสินใจย้ายจุดยืนไปเป็นสมาชิกพรรคมนังคศิลา (เสรีมนังคศิลา?) โดยอ้างว่าเพื่อจะทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและเข้าไปยับยั้งรัฐบาลจากวงใน จากเหตุผลข้างต้นหนังสือพิมพ์สยามนิกรได้เสนอว่า เหตุผลของนายเพทาย โชตินุชิตฟังไม่ขึ้น และได้เสนอข้อความตอนหนึ่งว่า "เพทาย โชตินุชิตจากไปแล้ว แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนยังคงอยู่ต่อไป ไม่มีอำนาจใด ๆ จะมายับยั้งไว้ได้ การจากไปของบุคคลหนึ่งก็คือ บทเรียนในการวินิจฉัยตัวบุคคลในกาลต่อไปข้างหน้า ข้อสำคัญที่ควรจดจำก็คือ เราจะตั้งตนเองเป็นวีรบุรุษกันนั้นไม่ได้ เพราะวีรบุรุษไม่ได้สร้างประชาชน แต่ประชาชนต่างหากที่สร้างวีรบุรุษ"

บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2500 มีบทบาทอย่างสูงในการเป็นผู้นำสังคมที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยและกระตุ้นความสำนึกทางการเมืองของประชาชน ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขการบริหารประเทศให้เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย ตลอดจนการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของนักหนังสือพิมพ์ เช่น เป็นคอมลัมนิสต์ นักเขียนนวนิยาย ปัญญาชน ผู้นำความคิดของสังคม และมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านนโยบายบางประการของรัฐบาล รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นมีแนวโน้มที่จะปกครองแบบรวมอำนาจ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองของโลกที่กำลังตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น ทำให้รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงปราบปรามนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ด้วยการจับกุมครั้งใหญ่ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2495 ซึ่งมีผลทำให้นักหนังสือพิมพ์ต้องยุติบทบาทของตนแม้แต่ในการวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาล ภายหลังจากนั้นนักหนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวให้อยู่รอดต่อไปและไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรงโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งได้ดำเนินการปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ.
(จบ)
ที่สำคัญ หลังจากรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งผลให้ไทยก้าวสู่ยุคเผด็จการยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดนักเขียนฝ่ายประชาธิปไตย ตลอดจนนิสิตนักศึกษาที่มีจุดยืนในฝ่ายประชาธิปไตย ทยอยกันสาบสูญไปจากสังคมนานถึงกว่าทศวรรษครึ่ง หลังจากการยึดอำนาจซ้ำสอง (รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) เพียงครึ่งทศวรรษ การต่อสู้ทางการเมืองโฉมหน้าใหม่ อันเป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เปิดฉากขึ้น นำไปสู่สภาวะ "สงครามประชาชน" สืบเนื่องมาจนถึงสามทศวรรษ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8