Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (26)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (9)

เดลิเมล์ฉบับปฐมฤกษ์ พาดหัวข่าวใน "นักศึกษา มธก.รากเลือดค้าน ก.พ." อันเป็นการท้าทายอำนาจเผด็จการและรัฐบาลทหารในเวลานั้นอย่างไม่เกรงกลัว

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (9)


สำหรับในแวดวงหนังสือพิมพ์ภายหลังการการรัฐประหารสองครั้ง คือ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 หรือที่เรียกกันว่า "การจี้นายควง" ซึ่งส่งผลให้จอมพลป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นายทหารนอกราชการไปแล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยตัวจอมพลป. รอดพ้นจากการเป็นอาชญากรสงครามจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่จอมพลป. สามารถเอาตัวรอดจากปากเหยี่ยวปากการในควาวมพยายามยึดอำนาจและล้มล้างรัฐบาลที่จบลงด้วยการเป็นกบฏถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ
  1. กบฏเสนาธิการ (2491) เป็นการต่อต้านจากภายในกองทัพเอง
  2. กบฏวังหลวง (2492) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายประชาธิปไตยพลเรือน ซึ่งประกอบด้วยเสรีไทยและกองทัพเรือ
  3. กบฏแมนฮัตตัน (2494) เป็นการต่อต้านจากฝ่ายกองทัพเรือ
โดยกบฏทั้งสามครั้งนั้นจบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาล อันทำให้รัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารนั้นมีเสถียรภาพมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น คณะรัฐประหารจึงได้ทำการรัฐประหารเงียบหรือการรัฐประหารทางวิทยุในปีพ.ศ.2494 เพื่อที่จะได้ควบคุมอำนาจนิติบัญญัติหรือรัฐสภาได้อย่างเต็มที่

แต่อย่างใดก็ตาม แม้ว่าระบบการเมืองของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2491 จนถึงปลายปี พ.ศ.2494 จะมีรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม) ซึ่งต่อมามีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 (รัฐธรรมนูญกษตริย์นิยม: เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า; http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2494) ที่ให้อำนาจแก่ตัวนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 แต่คณะรัฐประหารกลับมีอำนาจเหนือกฎหมายซึ่งภายหลังจากการจี้นายควง รัฐบาลต้องประสบกับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทอย่างมากในสภา อันทำให้รัฐบาลจอมพล ป. ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้อย่างมีเสถียรภาพ

ในช่วงนั้นเอง มีหนังสือพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นสองฉบับในเวลาห่างกันแค่วันเดียว และทั้งสองฉบับมีบทบาทอย่างสำคัญและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล (ที่ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมี "อำนาจล้นฟ้า" ภายใต้การกำกับดูแลของ "อธิบดี" เผ่า ศรียานนท์ จนมีคำกล่าวว่า "ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล) ในการเปิดโปงรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจและต่อต้านการยึดอำนาจซ้อนจนประสบชัยชนะมาได้ดังกล่าวมาแล้ว

หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่จะกล่าวถึงคือ หนังสือพิมพ์ เดลิเมล์ ก่อตั้งโดย นายแสง เหตระกูล หรือที่เรียกกันติดปากในเวลานั้นว่า "นายห้างแสง" ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2493 นายห้างแสงนั้น นับว่าเป็นผู้มีประสบการณ์งานพิมพ์มาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยดำเนินกิจการโรงพิมพ์ประชาช่าง มาเป็นเวลา 5 ปี จนตัดสินใจซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ (Bangkok Daily Mail) ของนายหลุย คีรีวัตน์ ซึ่งหยุดดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทั้งนี้นายห้างแสง เป็นทั้งเจ้าของและผู้อำนวยการ โดยจ้าง บริษัทประชาช่าง จำกัด ของนายห้างแสงเอง เป็นผู้พิมพ์ ซึ่งมีพาดหัวข่าวในฉบับปฐมฤกษ์ว่า "นักศึกษา มธก.รากเลือดค้าน ก.พ." ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายอำนาจเผด็จการและรัฐบาลทหารในเวลานั้นอย่างไม่คิดเกรงกลัว

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามเกาหลี และประเทศไทยภายใต้การสนับสนุน (ควบคุม) ของสหรัฐอเมริกา ก็ถูกดึงเข้าสู่สงครามโดยการส่งกําลังเข้าร่วมรบกับกองกําลังที่จัดตั้งจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ทำสงครามกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ที่สนับสนุนโดยค่ายสังคมนิยมคือสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกครอบงำโดย "พี่เบิ้มแห่งโลกเสรี" สหรัฐอเมริกา ไทยต้องพบว่าต้องตกอยู่ในวังวนอันเชี่ยวกรากของกระแสการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังขยายตัวไปทั้วโลกรวมทั้งในประเทศไทยพร้อมกับความพยายามของประเทศอาณานิคมเดิมทั้งหลายในโลกอยู่ในช่วงต่อสู้เรียกร้องเอกราช ข่าวและบทความในช่วงนั้นจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนวงการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์หยิบยกประเด็นมานำเสนอหลายครั้งต่อเนื่องกัน อาทิ:

ฉบับวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อข่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งข่าวต่อประชาชนให้ติดตามการที่จีนแดงแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาประชิดประเทศไทยและอินโดจีน

ฉบับวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ในคอลัมน์สถานีอิสระที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นประเด็นทางการเมือง โดยมีประชาชนท่านหนึ่งส่งจดหมายระบุจากการตีพิมพ์ว่า เป็นการถูกต้องที่รัฐบาลไทยนั้นได้ตัดสินใจ เพราะว่าทุกวันนี้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วที่ชัดเจนคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ การส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้รบแสดงให้เห็นกันว่าไทยเรายืนอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมที่จะช่วยยับยั้งคอมมิวนิสต์

ฉบับวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาข่าวว่า ฝ่ายค้านนํา โดย นายควง อภัยวงศ์ ปะทะหัวหน้ารัฐบาล จอมพล ป. กรณีไม่เห็นด้วย ที่ไทยจัดส่งทหารไปเกาหลี เพราะรัฐบาลกําลังลืมประชาชนที่กําลังอดอยาก ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนต่างก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ฉบับวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในคอลัมน์ "ภราดร" ซึ่งเขียนโดย นายศรัทธา ว่า เป็นอันว่ารัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะพาประชาชน 18 ล้านคนบนพื้นธรณีแหลมทองเข้าสู่สถานการณ์สงคราม โดยได้ส่งข้าวและกําลังทหารตามบัญชาของสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการเห็นชอบของ ส.ส. เพราะต้องการเสวยสุขอยู่ในตําแหน่งต่อไป โดยเอาสถานการณ์สงครามยืดอายุผู้แทน เหมือนที่เคยทําสมัยกอดคอกับญี่ปุ่น

(จากวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาข่วิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf)

(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8