Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (23)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (6)

จำเลย 54 คน ในคดี "ขบถสันติภาพ" ดูรายชื่อในบทความนี้

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (6) 

เพื่อไม่ให้ "ข้าม" ช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและประชาชนไทยที่รักเสรีภาพและประชิปไตย ขอคั่นบทความชิ้นยาวนี้ด้วยเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" :

*****

"กบฏสันติภาพ" เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ถึงจับกุมบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน มีใจความสำคัญว่า:

"ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

จากนั้นยังได้ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ. 2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีกด้วย

ผลที่สุด ในคดี "กบฏสันติภาพ" นี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. 2500 ขอนำภาพถ่ายและรายชื่อจำเลย 54 คน ในคดีมาถ่ายทอดซ้ำ ณ ที่นี้อีกครั้ง

แถวหน้าจากซ้าย: (1) พ.ท. สาลี่ ธนะวิบูลย์ (2) สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ (3) บัว จันทร (4) ชาย เฮงกุล (5) ฉัตร บุณยศิริชัย - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ (6) สุภัทร สุคนธาภิรมย์ - เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต อดีตพลพรรคเสรีไทย (7) จ.อ.โสตถิ์ เสวตนันท์ (8) ปิ่น เสียงชอบ (9) ประสิทธิ์ เทียนศิริ - สมาชิกคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

แถวที่ 2 จากซ้าย: (10) ชิต เวชชประสิทธิ์ (ทนายความ) (11) จ.ท.ไพโรจน์ มนต์ไทวงศ์ (12) สิงหชัย บังคดานรา (13) พลทหารปาล พนมยงค์ - บุตรชายของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ [วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และปรีดี พนมยงค์ ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติแต่งตั้งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 - 20 กันยายน พ.ศ. 2488) และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไปอีก เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถเสด็จนิวัติประเทศไทยได้] (14) พินิจ ปทุมรส (15) จ.ท.ประดิษฐ์ หุนชนเสวี (16) จ.ท.ยิ่ง รัตนจักร (17) สุพจน์ ด่านตระกูล (18) อารีย์ อิ่มสมบัติ (19) จ.ท.ทองอินทร์ ความนา (20) น.พ.เจริญ สืบแสง (21) กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" (22) วิเศษ ศักดิ์สิทธิ์คันศร (23) สุชาติ ภูมิบริรักษ์ (24) ซ้ง แซ่คู (25) สมัคร บุราวาศ - นักคิดนักเขียนและนักปรัชญาคนสำคัญช่วงรอยต่อกึ่งพุทธกาล

แถวที่ 3 จากซ้าย: (26) สุบรรณ จันทร์แก้ว (27) จ.อ.สงขลา กระจ่างพจน์ (28) ภู ชัยชาญ  (29) จ.ท.มา ทองแท้ (30) จ.อ.อ.เมี้ยน เดชาติวงศ์ (31) อนันต์ ทัตตานนท์ (32) มงคล ณ นคร (33) จ.ท.ประสิทธิ์ ใจอุ่น (34) สาร โนนใหญ่ (35) จ.อ.บุญส่ง ประสมแสง (36) ไสว มาลยเวช (37) ครอง จันดาวงศ์ (38) บุญมี ลัทธิประสาท (39) ภู จันเขตต์ (40) ณรงค์ ชัยชาญ (41) ฮะ แซ่ลิ้ม (42) ร.อ.พิมพ์ ยุวะนิยม (43) จ.ท.ไสว วงศ์หุ่น (44) น.อ.ท.พร่างเพชร บุณยรัตนพันธ์ (45) บุ ชัยชาญ (46) สอน เสนา (47) อุทธรณ์ พลกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ (48) พันจ่าโท มนูญ สุทธิวงศ์ (49) บุญนาน รัตนไพร (50) พันจ่าเอก นาด ปิ่นแก้ว (51) น้อย จันทร์นา (52) น.ต.มนัส จารุภา รน. (53) เปลื้อง วรรณศรี (54) ฮางเฮ้า แซ่โง๊ว

ส่วนจำเลยที่ไม่มีในภาพคือ สุ่น กิจจำนง

ภาพจาก: บันทึกนักโทษการเมือง โดย ไพศาล มาลาพันธุ์ (ไสว มาลยเวช)

ข้อมูลรายชื่อจาก: ตำนานขบวนการกู้ชาติ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล ISBN 974-92144-0-4 (บัญชีรายชื่อ ลงวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2528)

นอกจากนั้นยังมีผู้ถูกจับกุมอีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ถูกสั่งฟ้อง ประกอบด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ (1) อารีย์ ลีวีระ - เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร (ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 หลังได้รับอิสรภาพ อารีย์เข้าพิธีมงคลสมรสกับแฟนสาว คือ นางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 อารีย์ ลีวีระ ถูกยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก โดยตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท. ศิริชัย กระจ่างวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์) (2) สุภา ศิริมานนท์ - เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น นักคิดนักเขียนที่มีจุดยืนในเศรษฐกิจสังคมนิยม ผู้บรรยายและเรียบเรียงหนังสือ "แคปิตะลิสม์" จากงานเขียนของ คาร์ล มาร์กซ์ เป็นภาษาไทย (3) แสวง ตุงคะบริหาร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร (4) บุศย์ สิมะเสถียร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย (5) สมุทร สุรักขกะ - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ฯลฯ

สำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ประกอบด้วย (1) มารุต บุนนาค - ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; (2) ลิ่วละล่อง บุนนาค - ผู้นำนักศึกษา; (3) สุวัฒน์ วรดิลก - นักเขียน; (4) ฟัก ณ สงขลา - ทนายความ; (5) สุ่น กิจจำนงค์ - เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร และ (6) สุพจน์ ด่านตระกูล - ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นนักค้นคว้าและนักเขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยฝ่ายประชาชนคนสำคัญ ฯลฯ

*****
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 พฤศจิกายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8