Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (22)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (5)

ส่วนหนึ่งของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนในคุกลาดยาว หลังกลับจากลอบเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในนามคณะทูตใต้ดินในปี พ.ศ. 2498 จากซ้ายไปขวา สังข์ พัธโนทัย, อุทธรณ์ พลกุล, อิศรา อมันตกุล, สุวิทย์ เผดิมชิต, กรุณา กุศลาสัย และอารี ภิรมย์ (ภาพจาก หนังสือ ''ชีวิตที่เลือกไม่ได้'' โดย ดร.กรุณา กุศลาสัย สำนักพิมพ์แม่คำผาง) 

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (5)

บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา บรรยายต่อไปถึงความขัดกันหรือความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ทั่วไปในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งในแวดสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนและทัศนคติในทางการเมืองซึ่งกล่าวได้ในสองมิติด้วยกัน คือมิติของ เสรีภาพในการแสดงความเห็น (Freedom of Expression) และมิติในแง่จุดยืนทางการเมืองสองระบอบหลังสงครามโลกสองครั้ง ที่ประกอบไปด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน กับค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศหนึ่งประเทศใด โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กที่ดูเหมือนจะเป็น "เมืองพึ่ง" หรือ "กึ่งเมืองขึ้น" ของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ ว่า:
*****
แม้ว่าใน พ.ศ. 2495 ทิศทางการต่อสู้ของหนังสือพิมพ์อาจจะค่อนข้างชัดเจนและไปในทางเดียวกัน แต่ก็มิได้หมายความว่าพลังของหนังสือพิมพ์เป็นเอกภาพ เพราะมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น สยามรัฐ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ออกเผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 โดยมี สละ ลิขิตกุล เป็นบรรณาธิการ ตั้งแต่แรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐออกเผยแพร่ก็แสดงทัศนะต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและสงครามเกาหลี รวมทั้งแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการสันติภาพอย่างชัดเจน หนังสือพิมพ์สยามรัฐได้แสดงบทบาทสอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ คือ การมุ่งฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ที่ตกต่ำมานานภายหลังจากการปฏิวัติใน พ.ศ. 2475 แต่กระนั้นหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ได้เข้าร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง เช่น เมื่อรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกภายหลังกบฎแมนฮัตตัน หนังสือพิมพ์สยามรัฐประท้วง โดยที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชงดเขียนคอลัมน์และบทความทั้งหมด ลดจำนวนหน้า และเนื้อข่าวบริเวณใดที่ถูกตัดข้อความก็จะเว้นช่องว่างเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าถูกตัดข้อความ จนกระทั่งรัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์และเลิกกฎอัยการศึกแล้ว หนังสือพิมพ์สยามรัฐจึงเลิกประท้วงและกลับสู่วิธีการนำเสนอในรูปแบบเดิม 
ในวงการหนังสือพิมพ์ไทยเกิดสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกเมื่อ พ.ศ. 2499 กล่าวคือเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำรุนแรงมาก แต่ละฝ่ายต้องต่อสู้กันด้วยการมีหนังสือพิมพ์เป็นของตนเอง เช่น จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ สังข์ พัธโนทัย ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เสถียรภาพ ส่วนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้ ทนง ศรัทธาทิพย์ ออกหนังสือพิมพ์ สารเสรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ ไทรายวัน และ ไทสัปดาห์ ของ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน ที่มีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก็อยู่เบื้องหลังหนังสือพิมพ์ เผ่าไทย ไทเสรี และหนังสือพิมพ์รายวันเช้า ที่ออกตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2495 โดยมี วรรโณทัย อมาตยกุล เป็นบรรณาธิการ ต่อมาปรากฎว่าหนังสือพิมพ์ของฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ได้โจมตีพล.ต.อ.เผ่าในเรื่องการค้าฝิ่นและการใช้อิทธิพลสังหารนักการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ของฝ่าย พล.ต.อ.เผ่าก็มุ่งโจมตีจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจและเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศที่เหลวแหลก และเมื่อรวมบทบาทของหนังสือพิมพ์ฝ่ายอื่น ๆ เช่น สยามรัฐ และ ประชาธิปไตย ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และ ปิตุภูมิ ของฝ่ายสังคมนิยมแล้ว ทำให้ในระยะพ.ศ. 2499-2500 เกิดสภาพที่เรียกว่า "สงครามหนังสือพิมพ์" ขึ้น และการโจมตีฟาดฟันกันทางหน้าหนังสือพิมพ์นี้เอง ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความขัดแย้งและการโจมตีซึ่งกันและกัน หนังสือพิมพ์ในช่วง พ.ศ. 2499-2500 ก็มีบทบาทไม่น้อยในการสร้างมติมหาชนกดดันรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกา การโจมตีของหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในเรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากการมุ่งสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างโลกทุนนิยมและสังคมนิยม ตลอดจนภาวะทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียได้ผ่านเข้าสู่สันติภาพในช่วงเวลาหนึ่ง และประเทศเอกราชและประเทศเกิดใหม่ในเอเชียที่ออกมาจากการครอบครองของประเทศเจ้าอาณานิคมนั้นมีแนวทางหันมาดำเนินนโยบายเป็นกลางทั้งสิ้น รวมทั้งแนวโน้มการยอมรับสถานะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเหตุนี้การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบติดตามสหรัฐอเมริกาของรัฐบาล จอมพลป. พิบูลสงคราม จึงกลายเป็นสิ่งที่ดูไม่สมเหตุสมผลในสายตาของหนังสือพิมพ์ ผลที่ตามมาคือ ค่ายหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุด คือ ไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย และ สยามนิกร ได้กลายมาเป็นกลุ่มสำคัญที่รณรงค์คัดค้านเรื่องนี้และสร้างความกดดันให้แก่รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามเป็นอย่างมาก ยิ่งกว่านั้นหนังสือพิมพ์ สารเสรี ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ ไทรายวัน ของ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ เสถียรภาพ ของ สังข์ พัธโนทัย ต่างก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน
*****
ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญต่อการสื่อสารมวลชน และ/หรือ การต่อสู้เพื่อ "เสรีภาพในการแสดงความเห็น (Freedom of Expression)" ในประเทศไทย นั่นคือ การก่อตั้ง "สมาคมนักข่าว" ขึ้นในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งจากเว็บไซต์ของ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมฯ (www.tja.or.th) ในหัวข้อ "การต่อสู้ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย" (ดูที่ http://www.tja.or.th/index.php?view=article&catid=33%3Amyth-news-people&id=73%3Athe-battle-of-the-association&format=pdf&option=com_content) ความว่า:
อิศรา อมันตกุล ได้รับเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวคนแรกและเป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย (พ.ศ. 2499-2500-2501) โดยมี สนิท เอกชัย (ค่ายสี่พระยา), ชลอ อาภาสัตย์ (ค่ายสีลม), และ เลิศ อัศเวศน์ แห่งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมเพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มยังเติร์กในวงการข่าวเวลานั้น 
การชุมนุมของกลุ่มนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยการชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี มี ชาญ สินศุข หนังสือพิมพ์ สยามนิกร แห่งค่ายสีลม เป็นประธานการประชุมภายหลัง เลิศ อัศเวศน์ ชี้แจงในเบื้องต้นแล้ว 
คณะผู้ก่อตั้งสมาคมนักข่าวในเวลานั้นมี 15 คน ได้แก่  โชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และ เลิศ อัศเวศน์.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 พฤศจิกายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8