Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (21)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (4)

พ.ต.ควง อภัยวงศ์ (ที่ 3 จากซ้ายแถวหน้า) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เยี่ยมชมสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (4)

บทความเรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา บรรยายต่อไปว่า:
*****
หนังสือพิมพ์ สยามใหม่ ผู้เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ คือ เชื้อ อินทรทูต หนังสือพิมพ์สยามใหม่นี้ เคยคัดค้านหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ที่จะลงรูปพรรคคณะราษฎรทั้ง 70 คน โดยเห็นว่าเป็นการโฆษณามากเกินไป พร้อมทั้งเสียดสีหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ว่า "ฉันอยากรู้ว่าที่ต้องการอวดว่าฉันนั้นเป็นหนังสือพิมพ์ของคณะราษฎร" ส่วนหนังสือพิมพ์ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 เช่น หนังสือพิมพ์ไทเมือง ผู้เป็นเจ้าของคือ นายทองอยู่ สุดออมสิน และบรรณาธิการ คือ นายจรัส วงศาโรจน์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้นำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเกรงกลัวที่จะสูญเสียอำนาจของรัฐบาล และสถานะของพระมหากษัตริย์ที่เริ่มสั่นคลอนอันเนื่องมาจากสถาบันพระมหา กษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตี [สุกัญญา ตีรวนิช, ประวัติการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (พ.ศ.2325-2475) (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2520) , หน้า 115-126.] 
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเดิมหรือกลุ่มกษัตริย์นิยมทั้ง ในแง่การเมืองและในรูปแบบการต่อสู้ทางความคิด ระหว่างนักหนังสือพิมพ์ กลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ต่อต้านคณะราษฎรอย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลคณะราษฎร รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายการพิมพ์เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น แต่ภายหลังเหตุการณ์กบฎบวรเดช ฐานะของรัฐบาลมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาลจึงยอมออกกฎหมายการพิมพ์ที่ผ่อนคลายความเข้มงวดบางประการลง แต่ก็ยังคงให้อำนาจบางประการกับเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเต็มที่ จึงยังต้องการเครื่องมือควบคุมหนังสือพิมพ์อยู่
*****
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขับเคลื่อนจนในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรผ่าน พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484  ลงวันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2484 ออกมาจนได้ โดยมีทั้งหมด 66 มาตรา แบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนที่ 1 ว่าด้วยบททั่วไป; ส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิ่งพิมพ์; นอกจากหนังสือพิมพ์; ส่วนที่ 3 ว่าด้วยหนังสือพิมพ์; ส่วนที่ 4 ว่าด้วยความผิดและการกำหนดโทษ; ส่วนที่ 5 ว่าด้วยบทเฉพาะกาล

เนื้อหาที่สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ที่ การควบคุมหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ด้วยการให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ขอตรวจดูเนื้อหาของหนังสือพิมพ์หรือเซ็นเซอร์ ก่อนนำไปตีพิมพ์ได้ เมื่อประเทศมีเหตุฉุกเฉินหรือตกอยู่ในภาวะสงคราม และสามารถสั่งงดหรือถอนใบอนุญาตการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถยึดหนังสือพิมพ์และแท่นพิมพ์ได้ หากมีการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ทั้งนี้บัญญัติว่าคำสั่งของรัฐมนตรีถือเป็นเด็ดขาด ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งนั้น แต่การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์

กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้งด้วยกัน คือ การแก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2485 เพิ่มสาระสำคัญในกรณีที่จะออกหนังสือพิมพ์ข่าวสารการเมือง จะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ก่อน ต่อมาได้มีการแก้ไขฉบับที่ 3 พ.ศ. 2488 โดยให้ยกเลิกสาระสำคัญที่แก้ไขในฉบับที่ 2 พ.ศ. 2485
*****
บทความ "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" บรรยายต่อไปว่า:
ตั้งแต่ภายหลัง พ.ศ. 2490 หนังสือพิมพ์กลายเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งที่มีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เห็นถึงความสำคัญของหนังสือพิมพ์ เนื่องจากว่าหนังสือพิมพ์มีบทบาทอย่างมากในการโน้มน้าวและสร้างทัศนคติของมหาชนที่มีต่อรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลมีภาพลักษณ์ในทางตกต่ำมากขึ้นซึ่งมีส่วนช่วยทำให้การรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ประสบผลสำเร็จ บทเรียนนี้เอง ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความสนใจเป็นพิเศษต่อบทบาทของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะรักษาภาพลักษณ์และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ให้ได้ แต่ภายหลังกรณีกบฏวังหลวงแล้ว รัฐบาลเริ่มที่จะเข้าควบคุมหนังสือพิมพ์มากขึ้น โดยจับกุมนักหนังสือพิมพ์ในข้อหาเข้าร่วมกับการกบฏและได้มีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก และภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเงียบในวันที่ 29 พฤศจิกายน รัฐบาลชั่วคราวได้ตั้งกรรมการขึ้นเพื่อเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์โดยตรง ทำให้หนังสือพิมพ์รู้สึกถูกกดดันจากรัฐบาลอย่างมาก จึงทำให้การต่อสู้รุนแรงมากขึ้น โดยฝ่ายหนังสือพิมพ์ร้องเรียนว่า การเซ็นเซอร์ได้สร้างความเดือดร้อนแก่หนังสือพิมพ์เพราะเป็นการกระทบ กระเทือนต่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์อย่างรุนแรง ทำให้หนังสือพิมพ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชนได้โดยสะดวก เป็นการขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและเป็นการละเมิดหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในโลกเสรีประชาธิปไตย

ดังนั้นจึงได้มีการประชุม สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 โดยมีการเสนอให้ตั้ง คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ขึ้น ซึ่งมี หม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการและ อุทธรณ์ พลกุล เป็นเลขานุการ และได้มีการเรียกร้องให้จัดการประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ในภาวะบ้านเมืองปกติ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการผลักดันทางรัฐสภาเพื่อยกเลิก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกในภาวะสงคราม และให้อำนาจแก่รัฐบาลในการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างมาก การต่อสู้ของสมาคมหนังสือพิมพ์ใน พ.ศ. 2495 นับว่าเป็นครั้งแรกที่นักหนังสือพิมพ์ไทยต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตน แต่การต่อสู้ยังมิได้บรรลุผล ก็ถูกรัฐบาลก่อการกวาดล้างครั้งใหญ่เสียก่อนในเหตุการณ์การจับกุมกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อันเป็นกรณีมุ่งกวาดล้างจับกุมขบวนการกู้ชาติและกบฏสันติภาพ ซึ่งมีนักหนังสือพิมพ์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายคนในขบวนการกู้ชาติ ผลการจับกุมทำให้ขบวนการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์อ่อนกำลังลงอย่างมากซึ่งเห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาลลดลงมากในช่วง พ.ศ. 2496-2498 และการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของหนังสือพิมพ์ก็สลายลงพร้อมกับการปราบปรามครั้งนี้
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8