Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (2)

กบฏชาวนาไทยในประวัติศาสตร์ :
"กบฏผีบุญ"หรือ "กบฏผู้มีบุญ"


 
แผนที่อยุธยา แสดงตำแหน่งวังหลังทางทิศตะวันตก จากจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์

สำหรับดินแดนที่สร้างชาติโดยชนชาติไทยสืบเนื่องมากว่า 700 ปี นับจากการประกาศ "ปลดแอก" จากอำนาจการปกครองของ "ขอม" โดยพันธมิตรชนชาติไทยทั้งสามคือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง (ต้นราชวงศ์พระร่วง); พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (พะเยา) แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม และ พ่อขุนเม็งราย หรือพญามังราย แห่งราชวงศ์ลัวะ จังคราช เจ้าเมืองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน (เชียงราย) นั้นการสอบค้นทางประวัติศาสตร์ จนถึงช่วงต้นของยุคกรุงศรีอยุธยา อย่างที่การศึกษาประวัติศาสตร์ (เก่า) แบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบประวัติศาสตร์จารีต ที่ใช้ "ราชธานี" แบบ "นครรัฐ" หรือ "รัฐใหญ่น้อย" ที่กระจายตัวกัน แล้วใช้ข้อสรุปแบบ "อำนาจรัฐส่วนกลาง" ว่าเป็น "อาณาจักร" ความพยายามในการยึดอำนาจที่ไม่สำเร็จ และกลายเป็น "กบฏ" เกิดขึ้นหลายครั้ง หากในจำนวนนั้น 2 ครั้งแรก ไม่ถือเป็น "กบฏชาวนา" หรือ "กบฏไพร่" ได้แก่

ครั้งที่ 1 "กบฏญาณพิเชียร" เกิดขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2124) แต่ไม่ถือเป็นกบฏไพร่ เนื่องจากตัวผู้นำกบฏ จากข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดาร คือญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง เดิมเคยเป็นภิกษุ เอกสารส่วนใหญ่เรียกญาณพิเชียรว่า "ขุนโกหก" และความในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า "พระยาพิเชียร" คำว่า "ขุน" หรือ "พระยา" สะท้อนให้เห็นว่า ญาณพิเชียรนั้นมี "ศักดิ์ศรี" เหนือชาวบ้านหรือสามัญชนธรรมดา (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

นอกจากนั้น ดร.สุเนตร ยังได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ชื่อของพันไชยทูตและหมื่นศรียี่ล้น ล้วนเป็นลักษณะพิเศษที่แสดงว่าผู้นำกบฏในครั้งนี้มีความ "เหนือกว่าไพร่ทั้งมวล" และอาจเป็นข้าราชการในรัฐบาลซึ่งไม่พอใจนโยบายบางประการภายใต้การนำของพระมหาธรรมราชาก็เป็นได้ และวิธีกบฏของญาณพิเชียรก็มีความซับซ้อน มีระเบียบชัดเจน แสดงถึงการวางแผนมาอย่างดี นั่นย่อมต้องอยู่ภายใต้นโยบายของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อาจเป็นเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์หรือแม้กระทั่งขุนนางข้าราชการผู้ช่ำชองกลก็ได้ (http://www.hiclasssociety.com/hiclass/detailcontent1.php?sub_id=1596)

ส่วนในพงศาวดารฉบับหลวงประเสิรฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกเรื่องราวของกบฏครั้งหนึ่งไว้ใจความว่า "ศักราช 943 (พ.ศ. 2124) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี" การก่อการนั้นเริ่มโดยสมคบกับพวก ลวงชาวบ้านว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จนชาวบ้านหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ญาณพิเชียรและพวกซ่องสุมผู้คนอยู่ที่วัดใหญ่ บ้านยี่ล้น แขวงวิเศษไชยชาญ เมืองอ่างทอง

ครั้งที่ 2 "กบฏธรรมเถียร" เกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชา พ.ศ. 2241 ผู้นำกบฎครั้งนี้เป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศ (บางฉบับเรียกพระขวัญ) พระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ กระทำการโกหกปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศหลอกลวงชาวชนบทให้เข้าเป็นพวกกบฎครั้งนี้เกิดขึ้นในแขวงนครนายก แต่ก็กินบริเวณถึงสระบุรี ลพบุรีด้วย (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

ในบันทึกของนายแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ แกมป์เฟอร์ (Keampfer) ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทูตฮอลันดาใน พ.ศ. 2233 เพื่อถวายสาส์นต่อสมเด็จพระเพทราชา และเขียนบันทึกและแผนที่ไว้อย่างละเอียดและเขียนแผนที่ของกรุงศรีอยุธยา ที่สำคัญยังบันทึกถึงเส้นทางเดินเรือระหว่างเมืองปัตตาเวียกับกรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย กล่าวถึงกบฏธรรมเถียรไว้ว่า

"กรุงศรีอยุธยาในต้นรัชกาลนั้นมุ่งแต่การปลดอำนาจของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ก็เกิดปัญหาภายในอาณาจักรสยามขึ้นอีกกล่าวคือ พระยายมราช เจ้าเมืองนครราชสีมา กับพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองใหญ่นั้น เห็นว่าการที่สมเด็จพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ ทำการชิงอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ นั้นถือว่าเป็นกบฏ จึงพากันโกรธแค้นและต่างแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเพทราชา ทำให้มีการยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามหัวเมืองทั้งสองนี้อยู่หลายปีจึงสงบได้
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นอีก โดยมีมอญคนหนึ่งชื่อ ธรรมเถียร (ธรรมเสถียร) ได้ปลอมตัวอ้างเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ ชักชวนผู้คนให้หลงเชื่อเพื่อจะนำกำลังเข้ามาชิงราชสมบัติกลับคืน มีผู้คนเชื่อถือจำนวนมากจนจัดเป็นกองทัพเข้ามาถึงชานพระนคร ในที่สุดก็พ่ายแพ้กองทัพกรุงศรีอยุธยา 
จากเหตุการณ์กบฏธรรมเถียรนั้นทำให้ สมเด็จพระเพทราชา ทรงระแวงสงสัยความซื่อสัตย์ของขุนนางข้าราชการที่เคยช่วยเหลือการชิงราชสมบัติในครั้งก่อน จนถึงกับมีการจับนายจบคชประสิทธิ์ กรมพระราชวังหลัง กับเจ้าพระยาสุรสงคราม 2 คน ประหารชีวิต ทำให้มีเหตุการณ์วุ่นวายภายในอยู่ระยะหนึ่งต่อมาก็สงบเรียบร้อย"

"กบฏไพร่" หรือ "กบฏชาวนา" อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเพทราชาเช่นเดียวกัน พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงของ "กบฏบุญกว้าง" หลังจากสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ การปกครองของพระเพทราชาก็หาได้ราบรื่น เกิดการแข็งเมืองที่มีลักษณะกบฏถึงสองครั้ง จากขุนนางท้องถิ่นที่เป็นฐานอำนาจเดิมของพระนารายณ์ คือพระยายมราชสังข์ เจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเพทราชาต้องใช้เวลาปราบกบฏทั้งสองครั้งนี้ราว 10 ปีจึงปราบสำเร็จ แต่ในระหว่างนั้นการปราบกบฏนครราชสีมาประสบความสำเร็จก่อน หากความไม่สงบยังคงดำรงอยู่ ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิมย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเปิดโอกาสให้บุญกว้างและสมัครพรรคพวกอ้างตัวเป็นผู้มีบุญและก่อการกบฏขึ้น

ที่ถือว่าเป็นกบฏไพร่ก็เนื่องจากผู้นำในการก่อกบฏหรือลุกขึ้นสู้ มีลักษณะเป็นปฏิกิริยาที่คนในท้องถิ่นที่เป็นคนเชื้อชาติลาว "ผู้นำกบฎชื่อบุญกว้าง มีถิ่นฐานอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก บุญกว้างเป็นคนที่มี ความรู้ วิชาการดี มีสมัครพรรคพวกรวม 28 คน บุญกว้างได้นำสมัครพรรคพวกเข้ายึดครองนครราชสีมาโดยอาศัยวิทยาคุณทางไสยศาสตร์กำราบเจ้าเมืองและขุนนางคนอื่นๆ ต่อมาเจ้าเมืองนครราชสีมากระทำกลอุบายแหย่ให้บุญกว้างนำกองทัพยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้บุญกว้างเสียทีและถูกจับกุมตัวประหารชีวิต" (กบฏไพร่ สมัยอยุธยา, สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2526)

แต่ถึงกระนั้น "กบฏบุญกว้าง" ก็สามารถยึดครองเมืองนครราชสีมาเอาไว้ได้ถึง 3 ปี โดยที่ผู้นำเป็นชาวนาธรรมดา ไม่ได้อ้างอิงอำนาจการปกครองเดิมหรือฟื้นอำนาจเจ้านายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในราชสำนัก หรือร่วมมือรับใช้ขุนนางอำมาตย์ในการก่อการยึดอำนาจสถาปนาราชวงศ์ใหม่แต่อย่างใด เงื่อนไขพียงประการเดียวในการสามารถรวบรวมไพร่พลลุกขึ้นก่อกบฏได้ คือการอ้างตัวเป็น "ผู้วิเศษ" เท่านั้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 สิงหาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8