เส้นทางสู่จุดจบรัฐบาลเลือกตั้ง
วันที่ 20 กันยายน เวลา 00.19 น. มีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้ อยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง
จากนั้นในเวลาประมาณ 09.00 น. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้อ่านแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมปรากฏตัว ประกอบด้วย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
"เรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพ ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองได้เรียบร้อยแล้ว และมีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ มีอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีพฤติกรรมแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติให้ลุล่วงไปได้ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาส ยังหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทย
ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจจากการปกครองแผ่นดินเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของประเทศให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ และสร้างความรู้รักสามัคคีในหมู่ประชาชนให้ฟื้นคืนมาโดยเร็ว ทั้งนี้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาจะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง และจะคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย จึงใคร่ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ และสนับสนุนให้การดำเนินการบรรลุเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ต่อไป"
ต่อมาหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 24 กันยายน 2549 ตีพิมพ์คำแถลงของ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้น ซึ่งเรียกประชาสัมพันธ์จังหวัด และสื่อมวลชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 27 คน เข้ารายงานตัวและร่วมประชุมเพื่อชี้แจงนโยบายและสั่งการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่สโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก
"ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังข้าราชการและนักการเมืองผ่านทางสื่อมวลชนมาแล้ว 2-3 เดือน เพื่อให้กลับตัวกลับใจบริหารประเทศชาติให้มีความสงบสุข แต่ก็ยังไม่มีใครสำนึกหรือคิดทำ ยิ่งกลับทำให้ประเทศชาติเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก นับวันประชาชนในชาติยิ่งเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวก เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นมา แม้แต่ทหารที่ถูกนักการเมืองเลวบางคน ยุยงจนเกิดการแตกแยกกันออกเป็นกลุ่ม ยุยงให้บ้าในรุ่น บ้าเหล่า จึงจำเป็นต้องออกมาทำการปฏิรูปการปกครองใหม่"
ส่วนหนึ่งการการแถลงเปิดใจครั้งนั้น เผยให้เห็นถึงการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น ผ่านการวางแผนมาก่อนหน้านั้นแล้วหลายเดือน
"การวางแผนปฏิรูปการปกครองนั้นได้มีการวางแผนมาแล้ว 7-8 เดือน ไม่ใช่เพิ่งคิดจะทำกันแค่วันหรือสองวัน แต่มีการกำหนดไว้หลังจากเห็นว่าสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในประเทศเริ่มสั่น คลอน ประเทศชาติขาดคนมีภาวะผู้นำ มีแต่คนเก่งที่ขี้โกง แต่งตั้งข้าราชการที่เป็นพวกพ้องขึ้นมาบริหารงานรักษาประโยชน์และอำนาจให้แก่ตนเอง ปรับและโยกย้ายคนที่ไม่ใช่พวกพ้องออกไป กองทัพภาคที่ 3 จึงได้เตรียมความพร้อมมาตลอดเพื่อการปฏิรูปในวันนี้"
ถ้าจะย้อนความไปก่อนหน้านั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก่อนหน้างานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของทฤษฎี "แผนฟินแแลนด์" "ปฏิญญาฟินแลนด์" หรือ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์" ซึ่งเนื้อหาในบทความกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงก่อน และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้พบปะกันในประเทศฟินแลนด์ใน ปี 2542 เพื่อริเริ่มแผนการเพื่อจัดตั้งการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐและจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด
บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" (5 ตอน) เขียนโดย ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 17, 19, 22, 23 และ 24 พฤษภาคม 2546 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณได้ขยายรวมไปถึงสมาชิกพรรค ไทยรักไทยคนอื่นด้วย ได้แก่ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) นายจาตุรนต์ ฉายแสง (รองนายกรัฐมนตรี) นายสุธรรม แสงประทุม (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) และนายภูมิธรรม เวชยชัย (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) ซึ่งทั้งหมดได้เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
ทฤษฎีดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลหลายวงการ รวมทั้งผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2549 ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกวุฒิสภา นายโสภณ สุภาพงษ์ และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน