Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (29)

บทสรุปและคำถามที่ยังต้องการคำตอบ:
อหิงสากับสังคมไทย


บทความเชิงบันทึกเหตุการณ์ชุดนี้เริ่มตอนแรกเมื่อใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 มกราคม 2554 จากเจตนาเดิมเพียงเพื่อนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในรอบ 18 ปีเศษ นับจาก "กรณี พฤษภาทมิฬ 2535" ที่มีการประกาศแนวทางขับเคลื่อนประชาธิปไตยโดยขบวนการประชาชนก่อนยุคปฏิรูป การเมืองของไทย ซึ่งเป็นรู้จักกันมาตลอดศตวรรษที่ 20 ในชื่อ "สันติ อหิงสา" ที่จนถึงขณะนี้ คงไม่อาจพิจารณาเป็นอย่างอื่นไปได้นอกเหนือจากว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงวาท กรรมว่างเปล่า หลังการล่มสลายของการประกาศสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย ภายใต้นโยบาย 66/2523

ประเด็นสำคัญที่ขบวนการประชาชนที่ก่อรูปและพัฒนาขยายตัวมาตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษหลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นั่นคือการทำความเข้าใจและตรวจสอบแนวทางของขบวนการประชาชนภายใต้วาทกรรม "สันติ อหิงสา" หรือในช่วงก่อนการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน 2549 มีการนำศัพท์บัญญัติอีกคำหนึ่ง "อารยะขัดขืน" มาใช้อ้างเอาความชอบธรรมเพื่อนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่แฝงไว้ด้วยพลัง "นอกอำนาจอธิปไตยทั้งสาม"

เพื่อเป็นการนำภาพแนวทาง "ไม่ใช้ความรุนแรง" ในประวัติศาสตร์ของการ "ต่อต้านอำนาจฉ้อฉล" ที่กระทำโดยรัฐต่อพลเมืองหรือประชาชนใต้อาณัติการปกครอง ในตอนสุดท้ายนี้ ขอเสนอกรณีเปรียบเทียบมาเป็นสังเขปดังนี้

เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau, 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1817 - 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1862) นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เกิดที่เมืองคองคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา หลังจากจบการศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี ค.ศ. 1837 ทอโรเดินทางกลับไปบ้านเกิดและสร้างสัมพันธภาพกับกวีชาวอเมริกันคนสำคัญ ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน

ในระหว่างปี ค.ศ. 1845-1847 ทอโรพาตัวไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในกระท่อมที่สร้างด้วยตนเองบนที่ดินของอีเมอร์สัน ริมบึงวอลเดน อันเป็นที่มาของงานเขียน วอลเดน (Walden) ที่มีชื่อเสียง ในระหว่างนั้น ทอโรปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐ ด้วยเหตุว่าไม่เห็นด้วยกับสงครามเม็กซิกัน-อเมริกันและระบบทาสผิวดำในสหรัฐ เป็นเหตุให้ถูกจับขังหนึ่งคืน และนำไปสู่ความเรียง "ต้านอำนาจรัฐ" หรือ "อารยะขัดขืน (Civil Disobedience)" ซึ่งส่งอิทธิพลต่อ มหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

หลังจากนั้น อีกเกือบ 100 ปี มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวดื้อแพ่ง เพื่อต่อต้านอังกฤษในประเทศอินเดีย เริ่มต้นขบวนการประชาชน โดยเรียกแนวทางของตนว่า "สัตยาเคราะห์ (Satyagraha)" ซึ่งมีความหมายว่า การต่อสู้บนรากฐานของความจริงหรือสัจจะ

ภายใต้การปกครองโดยอังกฤษซึ่งเป็นประเทศเจ้านักล่าอาณานิคม กระทั่งมีคำเปรียบเทียบว่า "ตะวันไม่เคยตกดินภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ" เนื่องอังกฤษมีดินแดนอาณานิคมอยู่ทุกมุมโลกในสมัยนั้น ในประเทศอินเดียมีกฎหมายให้การผลิตและขายเกลือกระทำได้โดยรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น การผูกขาดเกลือเป็นรายได้ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าคนอินเดียที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเลจะสามารถผลิตเกลือเพื่อบริโภคเองได้ ก็จำเป็นต้องซื้อจากอังกฤษ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษถึงจำคุก

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1930 มหาตมะ คานธี พร้อมกับผู้เชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางสัตยาเคราะห์จำนวน 78 คน เริ่มเดินเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ จากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ตลอดเส้นทางมีประชาชนอินเดียตามเมืองต่างๆเข้ามาร่วมขบวนยาวหลายไมล์ การเดินทางครั้งนั้นใช้เวลา 23 วัน ซึ่งเมื่อถึงที่หมายแล้วก็เริ่มการ "ดื้อแพ่ง" โดยการเป็นผู้นำประชาชนนับพันขุดดินปนเกลือต้มในน้ำทะเลผลิตเกลือเพื่อท้าทายกฎหมายของอังกฤษ

ข่าวการเคลื่อนไหวนี้กระจายไปทั่วโลก ในขณะที่ชาวอินเดียพากันเข้าร่วมขบวนการผลิตและขายเกลือกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายและอำนาจการปกครองของรัฐบาลอาณานิคม ในที่สุดมหาตมะคานธีก็ถูกจับพร้อมกับประชาชนนับหมื่นคน มหาตมะ คานธี ให้การต่อศาลว่า

".. .การที่ข้าพเจ้ามิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น มิใช่เพราะข้าพเจ้าไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าต้องการปฏิบัติตามคำสั่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือคำสั่งแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของข้าพเจ้าเอง..."

เหตุการณ์ดื้อแพ่งของมหาตมะ คานธี ครั้งนั้นมีชื่อเรียกว่า "The Salt March" เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอินเดีย หลังจากคานธีได้รับการปลดปล่อยจากการถูกจับกุมคุมขัง ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประชาชาติอินเดียร่วมกันต่อสู้จนได้รับอิสรภาพใน ค.ศ. 1947 ในที่สุด

สำหรับในสหรัฐอเมริกาช่วงระหว่าง ค.ศ. 1955-1968 ในมีการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวดำ ที่เรียกกันว่า "ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement)" ซึ่งก่อนหน้านี้ในรัฐทางใต้คนผิวดำและผิวขาวไม่สามารถชีวิตร่วมอย่างมีสิทธิที่เท่าเทียมกันได้

ในปี ค.ศ. 1955 โรซา พาร์กส์ (Rosa Parks) ปฏิเสธที่จะลุกให้ที่นั่งแก่คนผิวขาวบนรถประจำทางตามที่คนขับรถสั่ง ทั้งที่กฎหมายท้องถิ่นระบุว่าเมื่อโดยสารรถร่วมกัน คนผิวดำไม่ว่าหญิงชายจะต้องสละที่ให้คนผิวขาวนั่ง เธอถูกจับขึ้นศาลและถูกตัดสินจำคุก เป็นเหตุให้คนผิวดำรวมตัวกันประท้วงด้วยการพร้อมใจกันไม่ใช้บริการรถประจำทาง ที่เรียกว่า "การคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรี (Montgomery Bus Boycott)" จนรัฐบาลท้องถิ่นต้องยกเลิกกฎหมายนี้

นอกจากนี้มีร้านอาหารหลายๆแห่งในรัฐทางใต้ปฏิเสธที่จะให้บริการแก่คนผิวดำ จึงมีการดื้อแพ่งโดยใช้วิธี "ซิทอิน (sit in)" โดยนักศึกษาผิวดำที่แต่งตัวเรียบร้อย ใส่สูทผูกไทผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปนั่งเฉยๆทุกที่ว่างในร้านอาหารที่ปฏิเสธคนผิวดำ จนกระทั่งร้านนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แล้วลามไปทั่วทุกรัฐทางใต้ โดยมีคนผิวขาวส่วนหนึ่งร่วมขบวนการด้วย มีการใช้วิธีซิทอินกับสถานที่สาธารณะต่างๆ ทั้งสวนสาธารณะ ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับนักศึกษาเหล่านี้ก็ไม่ยอมประกันตัว ต้องการติดคุกเพื่อให้เป็นข่าว และให้เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่และรัฐบาลท้องถิ่นไปทั่ว

ภายใต้การต่อสู้เหล่านี้เพื่อกดดันรัฐบาลกลาง จนนำมาสู่การออกกฎหมายสิทธิเลือกตั้ง (Voting Rights Act) ค.ศ. 1965 และจากนั้นเมื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1968 ในระหว่างการรณรงค์เพื่อสิทธิของคนผิวดำ จึงนำไปสู่การออกกฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ค.ศ. 1968 ที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ

คำถามคือ ในขบวนประชาธิปไตยประชาชนของไทยนับจาก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ที่ยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 มีแนวทางในการขับเคลื่อนที่สอดคล้องหรือเป็นไปในแนวทาง "สันติ อหิงสา" หรือไม่เพียงใด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-12 สิงหาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8