นายปรีดีวิพากษ์การอภิวัฒน์สยาม:
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (2)
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร (2)
จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2525 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง จึงเปิดใจในทัศนะต่อการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีการอภิวัฒน์สยาม ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส
***********************
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภและความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ
ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ
ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น
ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…
แม้คณะราษฎรมีจุดอ่อนหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่จุดอ่อนดังกล่าวได้ทำให้ระบบประชาธิปไตยการล่าช้าไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เท่านั้น ที่ผมตอบเช่นนี้ไม่ได้เป็นความที่ผมต้องการแก้ตัวแต่ได้กล่าวตามหลักฐานแท้จริง ซึ่งผมขอให้ท่านพิจารณาดังนี้คือ
ก. คณะราษฎรได้ต่อสู้ความขัดแย้งภายในคณะ และการโต้อภิวัฒน์จากภายในคณะและภายนอกคณะ มาหลายครั้งหลายหน แต่คณะราษฎรเองได้ปฏิบัติตามหลักทุกประการของคณะราษฎรที่ได้ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จไปก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 อันเป็นวันที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 6 ประการนี้ ซึ่งได้แก่ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์, การให้ความปลอดภัยในประเทศ, การดำรงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ, ให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน, การให้ราษฎรมีเสรีภาพและความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักดังกล่าวข้างต้น, และ ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ในแง่ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้บัญญัติขึ้นตามวิธีการที่บัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นแม่บท ท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาหลักฐานประวัติศาสตร์ระบบรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นได้ว่าถูกต้องสมบูรณ์ และในสาระก็เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะได้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง
ข. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ ล้มระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนารัฐธรรมนูญซึ่งมีฉายาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นโมฆะ ทั้งรูปแบบแห่งกฎหมาย และในสาระสำคัญของระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมได้กล่าวชี้แจงไว้ในหลายบทความแล้ว อาทิ กรมขุนไชยนาทฯ พระองค์เดียว ไม่มีอำนาจลงพระนามแทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นก็เป็นโมฆะ เพราะเป็นตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้ มิใช่เป็นรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มได้บัญญัติให้วุฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้ง มิใช่โดยการเลือกตั้งของราษฎร จึงมิใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์เหมือนดั่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
***********************
รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มดังกล่าว ได้เป็นแม่บทให้รัฐธรรมนูญอีกหลายๆฉบับต่อๆมา ซึ่งวุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งและบางครั้งที่สมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนหนึ่งก็ได้รับการแต่งตั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับในปัจจุบันนี้ เรียกระบบปกครองเช่นนี้ว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"
และหลังจากการให้สัมภาษณ์คราวนั้นแล้ว ฯพณฯ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488) และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย (24 มีนาคม - 1 มิถุนายน 2489 และ 11 มิถุนายน - 21 สิงหาคม 2489) ซึ่งเดินทางออกจากประเทศไทยไปลี้ภัยการเมือง และใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 รวมอายุได้ 83 ปี
นายปรีดีเคยกล่าวประโยคที่สรุปจากบทเรียนชีวิตของตัวเองเป็นวาจาอมตะว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ก็ไม่มีความเจนจัด แต่เมื่อข้าพเจ้ามีความเจนจัด ก็ไม่มีอำนาจ"
จากนั้น ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อปี 2543.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537