Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (19)

กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ. 2445
การต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สภาพสังคมล้านนาในอดีต

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงดำเนินการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น พระองค์ทรงริเริ่มการจัดการทางด้านการคลังโดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในปี พ.ศ. 2416 เพื่อรวบการเก็บภาษีอาการจากระบบส่วยมาสู่อำนาจส่วนกลางโดยตรง ตามมาด้วยการลิดรอนอำนาจทางทหารของเจ้านาย ขุนนาง และเจ้าประเทศราช ด้วยการ "ยุบเลิกระบบไพร่" เป็นลำดับ จนเกิดระบบการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรง นอกจากนั้นยังทรงเริ่มดำเนินยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบเจ้าเมืองและเจ้าประเทศราชที่สามารถตกทอดตามสายเลือดในระบอบศักดินาเดิม

ใน พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขึ้นไปดำเนินการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเชียงใหม่ โดยพระเจ้าน้องยาเธอฯแต่งตั้งข้าหลวงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำแก่เจ้าเมือง ในขณะเดียวกันตั้งเสนาบดี 6 คนปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการปกครองในส่วนต่างๆของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปโดยปริยาย จนถึงปี พ.ศ. 2435 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ

ทั้งนี้ รูปแบบการปฏิรูปการปกครองประเทศราชและหัวเมืองภาคเหนือในลักษณะดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้ในเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2439 ด้วย กระทั่งในปี พ.ศ. 2442 อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงออกกฎหมายประกาศยุบฐานะหัวเมืองประเทศราชใน 5 เมืองภาคเหนือ คือ เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลจากกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจครอบคลุม ทั้งการบริหาร การแต่งตั้งขุนนางในท้องถิ่นทุกระดับ การศาล และที่สำคัญคือการจัดการด้านการบริหารการเงินการคลัง หรืออำนาจในการบริหารงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง จากการถูกลิดรอนอำนาจดังกล่าว ทำให้เจ้าเมืองทั้งหลายที่ได้รับผลระทบจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินครั้งนี้ สนับสนุนพวกเงี้ยวให้ก่อการกบฏในปี พ.ศ. 2445

เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของชาวนาภาคเหนือตอนบนในครั้งนั้น ก่อนอื่นจำเป็นต้องรู้ว่า "เงี้ยว"  คือใคร?

จาก บทความเรื่อง "เหตุการณ์กบฏเงี้ยว  พ.ศ.2445  จากมุมมองของท้องถิ่น" โดย พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (โยธิน ฐานิสฺสโร) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ
(http://www.gotoknow.org/posts/493541?) ให้อรรถาธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า "เงี้ยว" คือ "ชาวพม่า" หรือกลุ่มคนที่มาจากฝั่งพม่า ในอดีตชาวพม่ากับชาวล้านนาก็ติดต่อค้าขาย ไปมาหาสู่กัน และบางส่วนก็ได้มาลงหลักปักฐานอยู่ในล้านนา ดังนั้นจึงมีวัด มีชุมชนของชาวพม่าอยู่ทั่วไปในล้านนา ซึ่งชาวล้านนามักเรียกวัดพม่าว่า วัดเงี้ยว มาจนบัดนี้

นอกจากนั้น อาจารย์เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445" ว่า "เงี้ยว" หมายถึง "กลุ่มไทใหญ่" ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติไตเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งในรัฐฉานก็มีคนไตอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน และแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 พวกด้วยกัน คือ

พวกพื้นราบ คือ พวกไตที่อาศัยอยู่ตามที่ราบภูเขาและหุบเขา ซึ่งจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมและลักษณะความเป็นชนชาติ  ได้แก่ พวกไตโหลงหรือไตหลวง  ไตขึนหรือไทเขิน ไตเหนอหรือไทเหนือ ไตลื้อ, ไตยอง, ไตหย่า เป็นต้น

พวกชาวดอย คือ พวกไตที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงบนภูเขา จะมีลักษณะทางสังคมเป็นชนเผ่า  ซึ่งจะเป็นพวกชาวเขามีมากกว่า 30 ชนเผ่า เช่น ไตกะฉิ่น, ไตกะหล่อง, ไตกะเร่ง (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ส่วนคำว่า "ไตโหลง" เป็นภาษาไต เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยสยามก็คือ "ไทหลวง" แต่ชาวสยามกลับนิยมเรียกว่า "ไทใหญ่" ซึ่งมีความหมายเดียวกันและใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว  ดังเคยปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชกำหนดเก่า พ.ศ. 2042 ในกฎหมายตราสามดวง โดยทั่วไปแล้วชาวสยามมักจะเรียกพวกไตที่อยู่ในรัฐฉานทั้งหมดว่าเป็นไทใหญ่ ซึ่งไม่ได้แยกกลุ่มเหมือนปัจจุบัน ส่วนชาวล้านนากลับเรียกพวกไทใหญ่ว่า "เงี้ยว" ซึ่งหมายถึง พวกชาวป่าชาวดอยที่มาจากรัฐฉานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า มีนิสัยดุร้าย

ตามหลักฐานเก่าพบว่า "เงี้ยว" เป็นคำเก่าโบราณเคยปรากฏอยู่ในวรรณคดีของภาษาตระกูลไท-ลาว เรื่องโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนกลางมีความอยู่ตอนหนึ่งว่า
....งูเงี้ยวพิษทั้งหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายังดิน.....
จากสำนวนดังกล่าวจะเห็นว่า "เงี้ยว" ให้ความหมายเป็นคำเปรียบเปรยในเชิงลบ กระนั้นก็ตามสำหรับชาวไทใหญ่แล้ว ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น "เงี้ยว" แต่จะเรียกว่าเป็น "คนไต" ส่วนการที่ชาวล้านนาเรียกว่า "เงี้ยว" นั้น ชาวไทใหญ่ถือว่าเป็นคำเรียกไม่สุภาพและเป็นการดูถูกเหยียดหยามทางชนชาติด้วยซ้ำไป

และสำหรับในการลุกขึ้นสู้ปี พ.ศ. 2445 นั้น เงี้ยวมิได้หมายแต่เพียงชาวไทใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้จากรายชื่อเชลยกบฏที่ถูกจับได้ปรากฏว่ามีทั้งชาวไทใหญ่และชาวพม่า เพราะฉะนั้น คำว่าเงี้ยว ในเหตุการณ์ดังกล่าวจึงหมายถึงผู้ที่มาจากฝั่งพม่าทั้งหมดไม่ได้แยกแยะว่าเป็นกลุ่มไหน

มูลเหตุการก่อตัวและพัฒนาการของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกบฏนั้น เริ่มขี้นในปี พ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก เจ้าเมืองแพร่เดิมคือ พระยาพิริยวิไชย (เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2432-2445 เป็นโอรสเจ้าหลวงพิมพิสาร หรือ "พิมสาร" กับแม่เจ้าธิดา มีนามเดิมว่า เจ้าน้อยเทพวงศ์ เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นครองเมืองแพร่ พ.ศ. 2432 ในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยาม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิริยวิไชย จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2439 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าพิริยเทพวงศ์" เจ้าผู้ครองนครแพร่) จึงสูญเสียอำนาจไปเพราะอำนาจสิทธิขาดตกเป็นของข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง พร้อมกับถูกตัดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นส่วยสาอากรดั้งเดิมรูปแบบต่างๆ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านายใหญ่น้อยทั้งหลายรวมไปถึงชาวเมืองแพร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองแพร่นั้น เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2442 ดังได้กล่าวมาแล้ว พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ดำเนินการปกครองโดยจัดการอย่างรุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าอดีตเมืองประเทศราชและหัวเมืองแบบจตุสดมภ์อื่น ๆ

ผลก็คือเจ้าพิริยะเทพวงศ์ ลอบสั่งให้ราษฎรจัดหาข้าวสารคนละ 2 ทะนาน ให้แก่พวกเงี้ยว ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้เงี้ยวเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับขุนนางข้าราชการที่ไปจากส่วนกลางเท่านั้น ทั้งนี้การที่เจ้านายฝ่ายเหนือเกือบทั้งหมดและเจ้าเมืองแพร่สนับสนุนกบฎเนื่องจากยังเชื่อกันว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพ ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาทางการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง และการก่อการดังกล่าวจะบีบบังคับให้รัฐบาลมอบอำนาจบริหารบ้านเมืองให้ตนตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8