จากกบฏพญาผาบภาคเหนือ
สู่มูลเหตุกบฏผู้มีบุญภาคอีสาน
ราษฎรชาวไร่ชาวนาเมื่อพ้นจากความเป็นไพร่ต้องเสียเงิน
"ค่าราชการ" เพื่อไม่ต้องเข้าเวรใช้แรงงานให้ทางการ
พญาผาบไม่ยอมมอบตัวต่อข้าหลวงพิเศษ ซึ่งเท่ากับเป็นตัวแทนตัวแทนราชสำนักที่กรุงเทพฯหรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กำลังก่อรูปวางรากฐานและเสริมสร้างฐานอำนาจทางการเมืองการปกครองอยู่ในเวลานั้น คือ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ มิหนำซ้ำยังวางแผนรวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ในเช้าตรู่วันที่ 19 กันยายนพ.ศ. 2432 วางเป้าสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและชาวจีนจากภาคกลางผู้เข้ามากอบโกยจากหัวเมืองล้านนา ซึ่งเดิมมีฐานะเป็นประเทศราชที่มีอำนาจการปกครองภายในอาณาเขตแว่นแคว้นของตน เป็นเจ้าภาษีนายอากรและเป็นนายทุน นายหน้า ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญคือน้อยวงษ์นั้นจะเอามาใส่ครกตำให้แหลก แต่แผนการล้มเหลว เนื่องจากในคืนก่อนถึงเวลาเข้าตีเมือง มีฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำท่วมสันทราย ราษฎรที่เข้าร่วมในกองกำลังของพญาผาบชวนกันหนีทัพกลับบ้านไปช่วยครอบครัวขนข้าวขนของหนีน้ำ
ในวันที่ 21 กันยายน เจ้าอุปราช เจ้าบุรีรัตน์ ยกกำลังออกปราบปรามจับกุมราษฎรและหัวหน้ากบฏได้โดยง่าย ส่วนตัวพญาผาบหนีไปได้พร้อมลูกเมีย หัวหน้า 12 คนถูกประหารชีวิต ราษฎรอื่นที่เข้าร่วมอีกหลายร้อยคน โดนเฆี่ยนคนละ 90 หวายบ้าง 60 หวายบ้าง และเบาสุด 30 หวาย แล้วปล่อยตัวไป พญาผาบหนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุง และเข้ายึดเอาเมืองฝางใน วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2432 (สมัยนั้นเปลี่ยนศักราชในวันที่ 1 เมษายน) หนานอินต๊ะ เจ้าเมืองฝาง ยอมแต่โดยดี ยกเมืองฝางให้พญาผาบขึ้นปกครองแทน พญาผาบจึงรวบรวมชาวเขา ชาวไทใหญ่ ชาวฮ่อ และบริวารดั้งเดิมตั้งตนแข็งเมือง ประกาศแยกเมืองฝางเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชสำนักกรุงเทพฯ
กองทัพลำปางที่เจ้าหลวงลำปางส่งมาช่วยเจ้าหลวงเชียงใหม่ปราบกบฏในครั้งนี้ยกทัพไล่ตามไปถึงเมืองฝาง ปะทะกับกองทัพเมืองฝางใน วันที่ 16 มีนาคม ไปเผชิญหน้าทำศึกกันที่ผานกกิ่ว เขตเมืองพร้าว กองทัพฝางแตกพ่ายไป ลูกชาย 2 คนของพญาผาบตายในสนามรบ ส่วนตัวพญาผาบรอดตายหนีไปตั้งหลักที่เชียงตุงอีกครั้ง เจ้าเมืองเชียงตุงจึงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองโก ผลที่สุด กบฏพญาผาบก็สลายตัวไปในปี พ.ศ. 2432 นั้นเอง
กบฏพญาปราบสงครามในครั้งนี้ ทำให้กรุงเทพฯหวาดระแวงและเริ่มไม่ไว้ใจพระเจ้าประเทศราชฝ่ายเหนือมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่า พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ค่อยจะกระตือรือร้นในการเข้าจัดการปราบปรามกบฏเท่าใดนัก เนื่องจากตอนแรกพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้ออกคำสั่งให้ เจ้าอุปราช (ซึ่งต่อมาคือ เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ พระราชบิดาของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นำทัพออกไปปราบพญาปราบ ซึ่งเป็นแม่ทัพในปกครองของเจ้าอุปราช เจ้าอุปราชถึงกับมีหนังสือตอบคำสั่งไปว่า "หากมีการศึกใด จักไปให้ แต่ศึกพญาปราบ ไม่ไป"
การลุกขึ้นก่อกบฏครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นผลมาจากการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ซึ่งกระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครอง ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บรวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์โดยตรง และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจเหนือเกือบจะครอบคลุมระบบและล้มล้างอำนาจรัฐแบบประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็นข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น นับจาก พระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ ฯลฯ
ต่อมาในปี ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกกฎหมายให้ราษฎรทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาท เป็นมาตรฐานเท่ากันทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้กล่าวอย่างถึงที่สุด อัตราดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาจากมาตรฐานเศรษฐกิจของภาคกลาง ซึ่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเงินตราแล้วอย่างชัดเจน จึงเป็นการยากลำบากที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวทั่วประเทศได้ เนื่องจากความลักลั่นของพัฒนาการทางการผลิตของแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าหลวงต่างพระองค์เข้าจัดระบบภาษีทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในปี ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน (ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลราชธานีระหว่าง ร.ศ. 112-130 หรือ พ.ศ. 2435-พ.ศ. 2453) ประกาศให้เก็บค่ารัชชูปการ (ค่าราชการ) ชายฉกรรจ์ผู้มีอายุระหว่าง 18-60 ปี คนละ 3 บาท 50 สตางค์ ยกเว้นคนพิการ ข้าราชการ เจ้านายระดับท้องถิ่นและครอบครัว ชาวต่างชาติ นักบวชและพระ ช่างผีมือและคหบดี
ถึงปี พ.ศ. 2442 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงบัญญัติให้เก็บเงินค่าราชการจากชายฉกรรจ์เป็นคนละ 4 บาทต่อปี ในจำนวน 4 บาทนี้ให้กรมการพื้นเมืองหักเก็บไว้ 62.5 สตางค์ที่เหลือส่งให้พระคลังมหาสมบัติ เงิน 62.5 สตางค์ ต่อคนที่หักไว้นี้นายหมวด นายกองจะได้ไปเพียง 3.125 สตางค์เท่านั้น เป็นการก่อหวอดความไม่พอใจในหมู่นายหมวด นายกอง ตั้งแต่ตอนนั้น นอกจากนี้ภาษีผลผลิตก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย เป็นอีกครั้งที่การปรับปรุงภาษีและระบบภาษีนี้เพิ่มภาระให้กับราษฎรหัวเมืองที่เป็นชาวนาชาวไร่อย่างมาก และนอกจากนี้ข้าหลวงเทศาฯ จากส่วนกลางยังมีคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีก อันมีผลโดยตรงต่อชาวนา ตัวอย่างเช่น ในปีเดียวกันนั้นเอง กรมหลวงสรรพสิทธิฯ กำหนดว่าการค้าขายสัตว์ใหญ่ต้องกระทำต่อหน้าข้าราชการ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชท้องถิ่นมีส่วนในการกำหนดราคาซื้อขายควาย ปศุสัตว์ ม้าและช้าง ฯลฯ อีกทั้งยังดำเนินการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมพื้นเมืองต่างๆ เช่น การสักยันต์ตามร่างกาย ซึ่งวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มองว่าเป็นสิ่งป่าเถื่อน แต่คนพื้นเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสานถือว่าเพื่อป้องโรคภัยไข้เจ็บและผีสาง
แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงโดยรวม แต่สังคมอีสานนั้นก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางทั้งเศรษฐกิจและทางการเมืองที่เกิดขึ้นของรัฐสยามมากนัก ทั้งนี้ในทางสังคมยังคงรักษาลักษณะจารีตประเพณี ขณะที่ทางเศรษฐกิจเป็นสังคมแบบเลี้ยงตนเอง พึ่งตนเอง และสิ่งที่หมู่บ้านในสังคมอีสานได้รับผลกระทบในระยะแรก คือการเกิดขึ้นของโรงสี พ่อค้าชาวจีน การขยายตัวของระบบเงินตรา โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเครื่องมือการผลิตบ้างเพียงเล็กน้อย
ขณะที่ผลจากการปฏิรูปการปกครอง สามารถรวมอำนาจทั้งทางการเมืองการปกครอง การเศรษฐกิจ และด้านการทหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดเอกภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในลักษณะรัฐชาติก็จริง คือ ก่อให้เกิดรัฐชาติ มีเอกภาพในการบังคับบัญชา แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เสียผลประโยชน์ทั้งทางอำนาจในการปกครองและการเงินจึงทำให้เกิดกบฏจากขุนนางท้องถิ่นเดิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บเงินค่าราชการจากราษฎรในเวลาที่เกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี ยังผลให้เกิดกบฏชาวนาหรือกบฏไพร่ โดยมีผู้นำที่อ้างตนเป็น "ผู้มีบุญ" หรือ "ผีบุญ" ตามมาอีกหลายระลอก.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน