Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (11)

การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง
ก่อนกบฏชาวนานาหรือกบฏผีบุญ

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi4115lhxVMw2s_MAtd_jbhUkYkkba3xR6VBo6soIgg421b9X0fzM8DeGCh7zOjcIi5YIHIFbTLMBFBU1Ke8wPPLZ8u6YLVFt8K9zdM2RF7nf_KgFwlLMzKZz66TSJq7oUch9pRK_Kajg/w400-h246-no/
เจ้านายเชื้อพระวงศ์ในรัฐมนตรีสภาและองคมนตรีสภา
ขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองเดิมจากระบอบ "จตุสดมภ์/ระบอบศักดินา" ที่อำนาจหาได้รวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบ "ราชาธิไตย" ลำดับต่อมาหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในราชวงศ์จักรี ทรงปฏิรูประบบการเงินการคลังโดยสามารถจัดการให้ระบบภาษีอากรอยู่ภายใต้การจัดการของส่วนกลาง (ราชสำนัก) ตามมาด้วยการจัดการกับระบบทหารระบบ โดยยกเลิก "ระบบไพร่" ที่เจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์สามารถมี "ไพร่สม" หรือ "ทหารส่วนตัว" ไปสู่ระบบเกณฑ์ทหารประจำการแบบตะวันตก กลายเป็นทหารของ "ส่วนกลาง" ที่ขึ้นต่อราชสำนักหรือพระมหากษัตริย์โดยตรง ประกอบกับเกิดการเคลื่อนไหว ร.ศ. 103 ซึ่งเจ้านายและขุนนางพยายามเคลื่อนไหวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเสนอระบอบการปกครองที่ "กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"

ในปี พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าให้ดำเนินการในขั้นต่อไป ตามพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน โดยสรุปสาระสำคัญที่นำไปสู่การยกเลิกระบอบจตุสดมภ์ ที่การบริหารราชการแผ่นดินจำเป็นต้องผ่านขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรืออำมาตย์ระดับสูงสุด  6 ตำแหน่ง คือ อัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง เสนาบดี 4 ตำแหน่งคือจตุสดมภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับตำแหน่งอัครเสนาบดีทั้ง 2 คือ
  1. สมุหนายกหรือกรมมหาดไทย ใช้ตราราชสีห์ เป็นตราประจำกรม หน้าที่หลักคือบังคับฝ่ายพลเรือน บังคับหัวเมืองทีขึ้นต่อสมุหนายก บังคับชำระคดีความในกรม
  2. สมุหพระกลาโหมหรือกรมกลาโหม ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำกรม มีหน้าที่บังคับบัญชาฝ่ายทหาร บังคับหัวเมืองที่ขึ้นต่อสมุหพระกลาโหม และชำระคดีความในกรม
พระองค์ทรงอธิบายไว้ว่า กรมใหญ่ทั้งสองนี้ทำงานปะปนซ้ำซ้อนกัน ไม่ได้แบ่งแยกกันจริงๆเหมือนตำแหน่ง คือเรื่องเกี่ยวกับทหาร เมื่อมีราชการทหารในหัวเมืองของกรมมหาดไทยแทนที่จะใช้ทหารของสมุหพระกลาโหม ไปจัดการ กลับใช้ทหารของฝ่ายสมุหนายกในหัวเมืองนั้นเพราะเป็นผู้ที่รู้เรื่องในเมืองนั้นได้ดีกว่าฝ่ายกลาโหม หรือเมื่อมีศึกชายแดนหรือการคุกคามทางทหารจากมหาอำนาจตะวันตกที่เป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งต้องใช้กำลังมากๆ ก็ต้องเกณฑ์จากทั้งสองฝ่าย หน้าที่ที่แบ่งไว้แต่เดิมจึงหมดไป และอัครมหาเสนาบดีทั้งสองก็มีงานล้นมือกว่าตำแหน่งคือ เป็นทั้งเสนาบดีว่าการการเมือง ว่าการยุติธรรม ว่าการทหาร และว่าการการคลัง

ดังนั้น สำหรับการปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลาง หรือการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ยกเลิก ตำแหน่งอัครเสนาบดีสอง รวมทั้งจตุสดมภ์อีกสี่ โดยการแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบตะวันตก และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2430 มี 12 กรม คือ

          1. กรมมหาดไทย บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว (ในฐานะประเทศราษฎร์)
          2. กรมกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ หัวเมืองฝ่ายตะวันออก ตะวันตก และเมืองมลายู (ในฐานะประเทศราษฎร์)
          3. กรมท่า บังคับบัญชาว่าการฝ่ายการต่างประเทศ
          4. กรมวัง บังคับบัญชากิจการในพระราชวังและกรมใกล้เคียง
          5. กรมเมือง ว่าการเกี่ยวกับเรื่องตำรวจ (ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าโปลิศ) และงานราชฑัณฑ์
          6. กรมนา กำกับดูแลการเพาะปลูก การค้าขาย ป่าไม้ บ่อแร่
          7. กรมพระคลัง กำกับดูแลการภาษีอากรและงบประมาณ
          8. กรมยุติธรรม บังคับศาลที่จะชำระความรวมทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
          9. กรมยุทธนาธิการ จัดการกิจการทหารบก ทหารเรือ โดยมีผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือต่างหากอีกตำแหน่งหนึ่ง
          10. กรมธรรมการ กำกับดูแลเกี่ยวกับพระสงฆ์ การศึกษาในระบบโรงเรียน และการสาะรณสุขโดยผ่านทางโรงพยาบาลทั่วพระราชอาณาจักร
          11. กรมโยธาธิการ กำกับดูแลการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลองและการช่างทั่วไป รวมทั้งการไปรษณีย์ โทรเลข รถไฟ
          12. กรมมุรธาธิการ รักษาพระราชลัญจกรหรือตราแผ่นดิน กำกับดูและพระราชกำหนดกฎหมายและงานระเบียบสารบรรณ หนังสือราชการทั้งปวง

ภายหลังได้ยุบต่อมายุบเหลือ 10 กรม และในวันที่ 1 เมษายน 2435 ได้ยกฐานะกรมทั้ง 10 เป็นกระทรวง เจ้ากระทรวงเป็นเสนาบดี เสมอกันหมดและได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐบาล โดยกรมยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และกรมมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง คงเหลือเพียง 10 กระทรวง การเปลี่ยนแปลงอื่นคือ กรมเมืองเปลี่ยนเป็นกระทรวงนครบาล, กรมท่าเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, กรมพระคลังเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ, กรมนาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กรมนอกจากนั้นคงใช้ชื่อตามที่เคยเป็นมา เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็น "เสนาบดีสภา" ทำหน้าที่ปรึกษาและบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย

การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่ "ล้มล้างระบอบจตุสดมภ์/ศักดินา" ลงได้อย่างถึงรากคือการยุติการปกครองแบบเจ้าเมืองและ/หรือเจ้าประเทศราชลงในที่สุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยในระยะเริ่มต้น จัดแบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายและงานด้านอัยการ และ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ ทั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำฯ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล แบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ

นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงสภาที่ปรึกษาในพระองค์ จาก สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 เป็น "รัฐมนตรีสภา" ประกอบด้วยเสนาบดี หรือผู้แทนกับผู้ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรวมกันไม่น้อยกว่า 12 คน จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ปรึกษาและคอยทัดทานอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติหน้าที่ในรัฐมนตรีสภาไม่กล้าที่จะโต้แย้งพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยตามพระราชดำริและนำไปสู่การปฏิบัติตามมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่น

สำหรับ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "องคมนตรีสภา" ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกเมื่อแรกตั้งถึง 49 คน มีทั้งขุนนางที่เป็นสามัญชนตั้งแต่ชั้นหลวงถึงเจ้าพระยาและพระราชวงศ์ ทั้งนี้ องคมนตรีสภาจะมีสถานภาพรองจากรัฐมนตรีสภา เนื่องจากมติในองคมนตรีสภาเกี่ยวกับข้อราชการหรือการถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ยังต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีสภาแล้วจึงจะเสนาเสนาบดีกระทรวงต่างๆ อีกชั้นหนึ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8