Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (10)

พระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5
ต่อการเคลื่อนไหว ร.ศ. 103

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgRD3iDqHcIBbf546gDZb8v93Xpxx_cujO7cvfQEt1uWHYQBZ3EpV5P5PidFCuhFDD2BeTGP9yiOASmCcXsyr_q8yxSyB0GLsZGDQxhGXhc2EOnZI86ELQstBn9DmtxkvsFKYtey-ycSw/w400-h268-no/ 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีตลอดจนการแต่งกายแบบตะวันตก

กลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์ระดับสูงที่ร่วมลงชื่อใน "เอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103" เสนอความเห็นต่อทางรอดของสยามในสถานการณ์ที่มีการคุกคามจากมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมตะวันตก และภาวการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองภายในประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อ "การปฎิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน" รวม 7 ข้อ ประกอบด้วย
  1. ให้เปลี่ยนการปกครองจาก "แอบโสลูดโมนากี (Absolute Monarchy)" ให้เป็นการปกครองที่เรียกว่า "คอนสติติวชั่นแนลโมนากี (Constitutional Monarchy)" โดยกษัตริย์ต้องยอมให้มีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานของบ้านเมือง มีข้าราชการรับสนองพระบรมราชโองการ เหมือนสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ในยุโรป ที่มิต้องทรงราชการเองทั่วไปทุกอย่าง อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน
  2. การทำนุบำรุงแผ่นดินต้องมีพวก "คาบิเนต (Cabinet)" รับผิดชอบ นั่นคือให้การบริหารประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี และจะต้องจัดหน่วยงานบริหารต่างๆ ให้เป็นสัดสวนแยกจากกันเป็นแต่ละส่วนๆไป โดยส่วนต่างๆจะมีอำนาจในการจัดการภายในของตน อีกทั้งต้องมีพระราชประเพณีจัดสืบสันตติวงศ์ให้เป็นที่รู้ทั่วกัน เมื่อถึงคราวเปลี่ยนแผ่นดินจะได้ไม่ยุ่งยาก และป้องกันไม่ให้ผู้ใดคิดหาอำนาจเพื่อตัวเองด้วย
  3. ต้องปิดหนทางที่จะทำให้เกิดการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยวิธีให้ข้าราชการมีเงินเดือนประจำพอใช้ตามฐานานุรูปตามหน้าที่รับผิดชอบจริงๆ
  4. ต้องให้ประชาชนมีความสุขเสมอกันมีกฎหมายให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเดียวกันในการเก็บภาษี และการสักเลกในระบบ "ไพร่" ต้องให้ความยุติธรรมทั่วหน้า
  5. ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียม และกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ที่กีดขวางความเจริญของบ้านเมือง ทั้งนี้โดยพิจารณาจากปฏิกิริยาที่ชาวยุโรป ติเตียนและขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง
  6. ให้ราษฎรมีเสรีภาพในทางความคิดเห็น ที่จะวิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้โดยเสรี และให้แสดงออกได้ในที่ประชุมหรือในหนังสือพิมพ์ ราษฎรจะถูกจับกุมและพิจารณาความผิดในการแสดงความเห็นอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงได้ด้วยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น
  7. ต้องสร้างกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ชัดเจน ในการคัดเลือกคนเข้ารับราชการทุกระดับชั้น จากคนที่มีความรู้ มีความประพฤติดี อายุ 20 ปีขึ้นไป เลิกระบบเส้นสาย โดยเน้นผู้ที่รู้ขนบธรรมเนียมยุโรปเป็นพิเศษ ส่วนผู้ที่มีความผิดถูกออกจากราชการ ผู้ที่เคยทำชั่วถูกถอดยศศักดิ์ หรือเคยประพฤติผิดกฎหมาย ต้องห้ามเข้ารับราชการอีก
ในข้อเสนอนั้นได้ระบุว่า "ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็น คอนสติติวชั่นยุโรปนั้นหาได้ประสงค์ที่จะมีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่หมายความผู้เสนอขอให้มีรัฐธรรมนูญ (Constitution) ยังไม่ได้ต้องการรัฐสภา (Parliament)" เหมือน "ดังกรุงอังกฤษฤๅอเมริกา" ซึ่งอำนาจและความผิดชอบอยู่ในเนื้อมือราษฎรทั้ง สิ้นให้มี "เคาเวอนเมนต์ และกำหนดกฎหมายความยุติธรรมอันแน่นอน" หมายถึงให้มีคณะรัฐบาล (Government) ซึ่งประกอบด้วยเสนาบดีหรือรัฐมนตรีพร้อมทั้งมีกฎหมายที่ให้ความยุติธรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบสรุปว่า พระองค์ทรงเห็นด้วยต่อประเด็นหลัก รวมตลอดถึงอันตรายต่างๆที่เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่กราบบังคมทูลนำเสนอ และไม่ต้องห่วงว่าพระองค์จะทรง "ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่า แอบโซลูต" แต่ทรงโต้แย้งในประเด็นให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญว่า สภาพบ้านเมืองของไทยยังไม่พร้อม ยังขาดคนที่มีความรู้มีสติปัญญา แม้แต่ในส่วนเสนาบดีของพระองค์ก็หาผู้ที่ทำงานเก่งจริงได้ยาก ส่วนที่จะปลดเสนาบดีเก่าออก ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ในความเห็นของพระองค์นั้นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงขณะนั้นคือ การปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง และสำคัญรองลงมาคือการเร่งหาตัวผู้มีความรู้ด้านออก กฎหมายต่างๆ เวลาที่ผ่านมาพระองค์ก็ทรงพยายามหาทางเปลี่ยนแปลง แต่ว่าในตอนนั้น ประการแรกพระองค์ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจกลับคืนมาไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อที่เมื่อมีอำนาจแล้ว ก็จะใช้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อสถานการณ์ทั่วไปของสยามได้ต่อไป

ทั้งนี้ทรงชี้แจงว่า เนื่องจากในเวลาที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติใหม่ๆ ทรงไม่มีอำนาจอันใดเลย ขณะพระองค์ทรงมีอำนาจบริบูรณ์ ในเวลาที่ทรงมีอำนาจน้อย ก็มีความลำบาก เวลานี้มีอำนาจมากก็มีความลำบาก พระองค์จึงทรงปรารถนาอำนาจปานกลาง ได้ทรงครองราชย์มา ถึง 17-18 ปี ได้ทรงศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เหมือนคางคกในกะลาครอบหรือทรงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทรงทำอะไรเลย ที่เรียกร้องให้มี "รัฐบาล (คอเวอนเมนต์)" ก็มีเสนาบดีเป็นรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ดี สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการคือ "คอเวอนเมนตรีฟอม" หมายถึงให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆกรมทำการให้ได้เต็มที่ ให้ได้ประชุมปรึกษากัน ติดต่อกันง่ายและเร็ว อีกประการหนึ่งทรงหาผู้ทำกฎหมายและที่ปรึกษากฎหมายการกระทำทั้งสองประการ ต้องได้สำเร็จก่อน การอื่นก็จะสำเร็จตลอด

การเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในปี พ.ศ. 2427 นั้น มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความ "กล้า" ที่จะกระทำการ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากจากการที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2425 ซึ่งเป็นที่ตระหนักกันทั่วไปว่ามีส่วนสนับสนุนการเสด็จขึ้นครองราชย์ (ครั้งแรก) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ และเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) ทิวงคต ในปี พ.ศ. 2428 รวมทั้งเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ตลอดจนขุนนางรุ่นใหม่หรือบุตรหลานขุนนางที่มีแววความรู้ความสามารถและมีความจงรักภักดีที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ทยอยเดินทางกลับมายังสยาม จึงมีส่วนกระตุ้นให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เริ่มจากใน พ.ศ. 2430 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการไปงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรียครบ 50 ปี ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์ได้ตรัสสั่งให้ไปศึกษารูปแบบการปกครองของประเทศต่างๆในยุโรปมา ด้วย และได้เริ่มเตรียมการปฏิรูปการปกครองในปีเดียวกันนี้เอง และใน พ.ศ. 2435 จึงได้ดำเนินการปฏิรูปเต็มรูป มีการตั้งเสนาบดีชุดใหม่แทนชุดเก่า.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8