Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (9)

การเคลื่อนไหว ร.ศ. 103:
ปฏิกิริยาจากเจ้านายและขุนนาง

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjHUIJpkkIogX9kUI83C_bKZqQc_qO4vZYz_m-FaOcPyMQLPdfyqY7qmblhV_MU1ncoirHQN0p9QR7T3DpPPKd_ENzF66WNqpOg0PVNLlns9qo2Cc3IAPvOLuKYq8y0dDdnSIQr96Pt9Q/w400-h264-no/
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับนักเรียนหลวงรุ่นแรกที่ประกอบด้วยเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์

ช่วงปลายการครองราชย์ระยะที่หนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการสำหรับการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบ "รวมศูนย์อำนาจ" มาเป็นลำดับ ที่สำคัญคือ "พัฒนาทรัพยากรมนุษย์" โดยส่งเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนาง ไปเรียนวิชาการต่างๆ แบบตะวันตก มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับ ประเทศตะวันตก เริ่มจากในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มหาดเล็กในพระองค์

นอกจากนั้น เนื่องจากในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อสยามคือ ราชอาณาจักรอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ นับเป็นนักเรียนหลวงชุดแรกที่ได้ไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อบรรดาคนรุ่นใหม่เหล่านี้เดินทางกลับสยามแล้วกลับตั้งคำถามต่อระบอบการเมืองการปกครองของสยามเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

ก่อนการเกิด "วิกฤตการณ์วังหน้า" ไม่นาน หลังจากทรงดำเนินการด้านการจัดเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลางโดยตรง และทรงเล็งเห็นว่าด้วยความที่ยังทรงอยู่ในวัยหนุ่ม รากฐานอำนาจในราชสำนักยังไม่มั่นคงพอ ที่จะดำเนินการปฏิรูประบอบการปกครองที่เริ่มก่อรูปขึ้นในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ออกพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ คือ ประกาศพระราชบัญญัติตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (council of state), ประกาศพระราชบัญญัติการคลัง, ประกาศพระราชบัญญัติตุลาการศาลรับสั่ง และประกาศพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท (ดังได้กล่าวไปแล้ว)

การที่ทรงประกาศจัดตั้งสภาที่ปรึกษานั้น ก็เพื่อให้เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อยู่ในฐานะ "คานอำนาจ" และไม่สามารถสมัครสมานสามัคคี หรือสมคบคิดกันไปในทางไม่พึงประสงค์ สภาที่ปรึกษาตามแนวพระราชดำริจึงประกอบด้วย 2 สภา คือ
สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (council of state) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นขุนนางและพระราชวงศ์จำนวน 20 คนสำหรับในรุ่นแรกมีจำนวนสมาชิกเพียง 12 คน เป็นขุนนางทั้งหมดไม่มีพระราชวงศ์เลย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาข้อราชการที่สำคัญและยังทำหน้าที่พิพากษาคดีพิเศษด้วย ผลงานสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งทำจนประสบความสำเร็จคือการเลิกทาส
สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (privy council) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และขุนนางมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่ม ปฏิบัติหน้าที่เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ และนำความขึ้นกราบบังคมทูล สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ชุดแรกมี 49 คน
ส่วนความเปลี่ยนแปลงต่อ "ระบบทาสและไพร่" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากการขั้นตอนที่นำไปสู่การเลิกทาสดังได้กล่าวมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2420 ทรงเริ่มจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้านายแทนพระราชทานไพร่ ดังที่เคยปฏิบัติกันมาในระบอบจตุสดมภ์ สำหรับ "ไพร่สม" หรือไพร่สังกัดมูลนายที่เป็นเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ ทรงออกประกาศพระบรมราชโองการให้ไพร่สมรับราชการเช่นเดียวกับไพร่หลวง หรือต้องเสียเงินค่าราชการปีละ 6 บาทแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ซึ่งทั้งสองกระบวนการเท่ากับเป็นการสลายอำนาจในการมีกองกำลังส่วนตัวของชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้ปกครอง ที่อาจสะสมกำลังและเกิดการซ้ำรอย "วิกฤตการณ์วังหน้า" ก็ได้  นอกจากนั้น ทรงปรับปรุงให้การแจ้งไพร่สมตาย ชรา พิการ เป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อการควบคุมจำนวน "ทหาร" ได้ง่ายขึ้นสำหรับส่วนกลางหรือราชสำนัก

ต่อมา วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉศก ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการ จำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชาย กฤษฏาภินิหาร (กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์), พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชายโสณบัณฑิต (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา), สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าชายปฤษฎางค์ (หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย), นายนกแก้ว คชเสนี, หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย), นายบุศก์ เพ็ญกุล, ขุนปฏิภาณ พิจิตร (หรุ่น), หลวงวิเสสสาลี (นาค), นายเปลี่ยน และสับเลฟเตอร์แนนสอาด ได้ร่วมกันลงชื่อกันในหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สาระสำคัญคือเห็นภัยภายนอกอันเกิดจากลัทธิจักรวรรดินิยม และภัยภายในเนื่องจากการปกครองในประเทศไม่เหมาะสม ส่งผลให้ประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มักอ้างเหตุที่จะเอาเป็นเมืองขึ้น การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตรายจึงต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเสียใหม่ให้คล้ายคลึงกับการปกครองของประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากนั้นยังมีภัยอันตรายจากสาเหตุอื่นอีกคือ ขุนนางข้าราชการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวม และการใช้อำนาจสิทธิ์ขาดของกษัตริย์มีหนทางพลั้งพลาดเกิดโทษได้ รวมทั้งการใช้คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว หรือใช้คนไม่ถูกกับความสามารถ จะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง คณะผู้ถวายหนังสือฯ ได้เสนอหนทางแก้ไขมีใจความโดยย่อดังนี้
  1. จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายผ่อนปรนกับชาติมหาอำนาจ เพื่อมิให้มหาอำนาจยึดบ้านเมืองเพราะต่อไปพวกนี้คงหาเหตุมาอ้างอีกจนได้
  2. การต่อสู้ด้วยกำลังทหารนั้น สำหรับสยามใช้ไม่ได้เพราะไม่พร้อมทั้งกำลังและอาวุธ
  3. แม้สภาพของประเทศไทยจะมีฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่า กับอินโดจีนเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ก็ตาม แต่ต้องปรับปรุงการปกครองภายในให้ดีด้วย
  4. การปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามท่านั้นยังไม่พอ
  5. สัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ ไม่ได้เป็นหลักประกันเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นจริง ๆ
  6. การค้าขายและผลประโยชน์ของชาวยุโรปที่มีอยู่ภายในสยามไม่อาจช่วยคุ้มครองการเบียดเบียนของชาติอื่นที่หวังผลประโยชน์เช่นเดียวกันได้
  7. การที่มีผู้กล่าวว่า เดิมสยามเรารักษาเอกราชได้ บัดนี้ย่อมรักษาเอกราชต่อไปได้ ก็คงใช้ไม่ได้เสมอไป
  8. ประการสุดท้าย กฎหมายระหว่างประเทศไม่อาจช่วยรักษาเอกราชไว้ได้ เพราะมหาอำนาจไม่ยอมรับว่า สยามเจริญพอจะร่วมวงการระหว่างชาติเหล่านั้น.

พิมพ์ครั้งแรก: โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8