Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (14)

ปฏิกิริยาจากเจ้าเมืองศักดินา :
กบฎพญาผาบเมืองเชียงใหม่

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง พ.ศ. 2435 รัฐบาลมีอำนาจในการบังคับบัญชาแตกต่างออกไปตามระยะทางใกล้และไกลของพื้นที่ต่อส่วนกลาง เช่นหัวเมืองประเทศราชยิ่งไกลออกไปก็ยิ่งมีอำนาจของตนเองมากขึ้นเท่านั้น ราชสำนักที่กรุงเทพฯ หรือระบอบการปกครองใหม่ยังไม่อาจใช้อำนาจบังคับบัญชาอย่างแท้จริงแต่อย่างใด เมืองประเทศราชมีเพียงหน้าที่ในการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการ ภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บไม่ได้ต้องส่งมากรุงเทพฯ แต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับว่าเมืองประเทศราชเหล่านี้จะสมัครใจขึ้นต่อราชสำนักสยามหรือไม่ก็ได้

ผลจากการเกิดราชอาณาจักรที่มีลักษณะเป็นรัฐประชาชาติคือ รูปแบบนครรัฐแบบโบราณก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง พ.ศ. 2435 ที่เคยรวมกันอย่างหลวมๆ ประกอบด้วยคนต่างเผ่าพันธุ์ ต่างวัฒนธรรมและภาษา ก็รวมกันเข้าเป็นรัฐชาติได้ โดยหัวเมืองต่างๆและบรรดาประเทศราชเดิมได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม การบริหารก็มีลักษณะรวมศูนย์ โดยมีกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย เป็นองค์ประธานที่สำคัญ พร้อมกับเสริมด้วยกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการคลังมีหน้าที่เก็บภาษีหารายได้เข้ารัฐ และกระทรวงกลาโหมในด้านการจัดการกองกำลังทหารให้ทันสมัยและเป็นปึกแผ่นและเป็นเอกภาพขึ้นต่อพระมหากษัตริย์เพียงหนึ่งเดียว

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองส่วนท้องถิ่นจากระบบหัวเมือง ตลอดจนเมืองประเทศราชที่มีลักษณะการรวมเมืองขึ้นเข้ามาอยู่ภายในขอบเขตขัณฑสีมา เป็นมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ เท่ากับเป็นการล้มเลิกเลิก "ระบบกินเมือง" การสืบทอดอำนาจปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตกทอดตามสายเลือดเช่นที่เป็นมาในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาเป็นอันสิ้นสุดลง เกิดรัฐประชาชาติเป็นครั้งแรกที่อำนาจการปกครองรวมศูนย์ที่ราชธานีของราชอาณาจักร หรือพูดอย่างถึงที่สุดคือภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภูมิภาคนี้) หรือ "ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร" ซึ่ง สอ เสถบุตร (ชื่อเดิม สอ เศรษฐบุตร รับราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร" ด้วยวัยเพียง 26 ปี และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า royal protection โดยใช้ใน พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับ สอ เสถบุตร ซึ่งลักลอบจัดทำในคราวถูกคุมขังในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ถูกถอดบรรดาศักดิ์ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ที่ บางขวาง, เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า

นับจากปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองโดย ยกหัวเมืองต่างๆที่เคยขึ้นกับสมุหกลาโหมและกรมท่ามาขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด ทำให้การบริหารราชการส่วนภูมิภาคสามารถรวมศูนย์และเป็นเอกภาพมากขึ้น การตั้งมณฑลเทศาภิบาลเป็นการเชื่อมต่ออำนาจการปกครองและอำนาจบังคับบัญชาจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค ใช้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับเจ้าเมืองต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยสามารถควบคุมข้าหลวงเทศาภิบาลให้ปฏิบัติตามนโยบายจากส่วนกลางไปในแนวทางเดียวกัน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกประชุมข้าหลวงเทศาภิบาลทุกปี ทั้งมีประกาศต่างๆเกี่ยวกับการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล อาทิ ประกาศจัดแบ่งปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 ซึ่งรวมหัวเมืองทั้งหมดไว้ใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย และในพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 และข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง ร.ศ. 117 ฯลฯ

ประกาศเหล่านั้น รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ใช้ปกครองหัวเมืองทั้งปวง โดยให้ราษฎรมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน 10 หมู่บ้านมีสิทธิเลือกตั้งกำนันของตำบล ตำบลหลายตำบลมีราษฎร 10,000 คน รวมกันเป็นอำเภอ หลายอำเภอรวมกันเป็นเมือง หลายเมืองรวมกันเป็นมณฑล ทั้งหมดนั้นหมายถึงการยกเลิกระบบกินเมืองแบบศักดินา โดยให้ข้าราชการทุกคนรับเงินเดือนจากส่วนกลางคือกระทรวงมหาดไทย ส่วนประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะได้รับ คือได้ส่วนลดจากการเก็บอากรค่าน้ำ อากรค่านา และเงินข้าราชการ

ผลกระทบจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการเรียกเก็บเงินผลประโยชน์เข้ามายังส่วนกลาง โดยผ่านการจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้สูญเสียผลประโยชน์ ที่สำคัญคือกลุ่มเจ้าเมืองเก่า ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการจลาจลขึ้นในแผ่นดิน เช่นกบฎพญาผาบ (ปราบสงคราม) ที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. 2432 ซึ่งเริ่มจากขุนนางและเจ้านายฝ่ายเหนือเสียผลประโยชน์ ซึ่งเดิมก่อนที่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากรจะทรงปฏิรูปการปกครองล้านนาระหว่าง พ.ศ. 2427-2432 นั้น เจ้านายฝ่ายเหนือเคยได้รับผลประโยชน์จากภาษีเต็มที่ แต่ระบบภาษีใหม่ ผลประโยชน์ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเงินเดือนข้าหลวงฝ่ายไทยและใช้ในราชการ ส่วนที่ 2 สำหรับพระเจ้าเชียงใหม่และบุตรหลาน ส่วนที่ 3 คือส่วนที่เหลือทั้งหมดส่งไปยังรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ การขาดผลประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เจ้านายฝ่ายเหนือไม่พอใจวิธีแบ่งผลประโยชน์

เหตุการณ์การกบฏเริ่มจากในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าหลวงผู้ครองเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (ระหว่าง พ.ศ. 2413-2440) น้อยวงษ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีนายอากรผูกขาดภาษีหมาก ภาษีพลู มะพร้าว ข้าวเปลือก และวัวควาย ในแขวงเมืองเชียงใหม่ในอัตราปีละ 41000 รูปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเจ้าเดิมถึง 16000 รูปี ทำให้น้อยวงษ์ต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้เงินจนคุ้มทุนการผูกขาดสัมปทานภาษี ราษฎรเดือดร้อนกันไปทั่ว ในที่สุดความอดทนของราษฎรก็ถึงจุดสิ้นสุด ในเช้าวันที่ 3 กันยายน มีราษฎร 4 คนในหมู่บ้านหนองจ๊อม (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่) ไม่มีเงินเสียภาษีจึงถูกจับกุมใส่ขื่อมือเท้าทิ้งตากแดดตากฝนประจานที่กลางข่วงบ้านป้อแค่วน (บ้านกำนัน) อยู่ 4-5 วัน ราษฎรในพื้นที่โกรธแค้นมาก นำเรื่องไปปรึกษาพญาผาบ (พญาปราบสงคราม) แม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งปกครองแคว่นหนองจ๊อม แค่วนแม่คือ แคว่นกอก ที่ชาวบ้านนับถือในหมู่บ้านสันป่าสักซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน

พญาผาบไม่พอใจเป็นอย่างมากที่น้อยวงษ์ข่มเหงรังแกคนในปกครอง ประกอบกับราษฎรก็ทนไม่ไหว บุกเข้าปลดขื่อคาให้ชาวบ้านที่ถูกจับทั้งสี่คนออกทันที จากนั้นพญาผาบจึงรับเป็นหัวหน้า ไล่พวกเก็บภาษีออกไปจากพื้นที่ พร้อมกับประกาศว่า ต่อไปนี้ห้ามเข้ามาเก็บภาษีในเขตปกครองเด็ดขาด ราษฎรรวมกำลังกันได้ประมาณ 2,000 คน อาวุธครบมือ ทำพิธีสาบานดื่มน้ำสัจจะกันที่วัดฟ้ามุ่ย บ้านหนองจ๊อม พร้อมใจกันยกพญาปราบขึ้นเป็นเจ้าเมืองสันทราย มีข้าราชการพื้นเมืองระดับหัวหน้าที่เรียกว่า หมู่ป้อแคว่น แก่บ้าน ป้อหลวงบ้าน หลายบ้านมาร่วมสมทบเป็นกองทัพใหญ่ จากเริ่มต่อต้านการเก็บภาษี ก็ลามไปเป็นการแข็งเมือง ต่อต้านเจ้าหลวงและต่อต้านกรุงเทพ น้อยวงษ์ไปฟ้องเจ้าหลวง ในที่สุด พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ข้าหลวงพิเศษ ทรงออกคำสั่งลงวันที่ 15 กันยายน ให้พญาปราบเข้ามอบตัวภายใน 5 วัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8