Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (13)

พัฒนาการของมณฑลเทศาภิบาล
รากฐานสมบูรณาญาสิทธิราชย์

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhHlncWZ-egRYM7NeA0RxRUqVSpiVWk84MS5SHrcUkUpMHm3J-Ql8AVxt0rU6Ev3iQs34qy-veKLXPh14TwrJeHRlSJlI8iZscrfMcWS5vM3t8wQnY0L8vSH4mM2Q_0HTwbmYjapIot4w/w400-h323-no/
การประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2439 แถวนั่ง 1. พระยาสุรินทร์ฦๅไชย (เทศ บุนนาค)  ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ 2. พระยาพงษาณุรักษ์ (แฉ่ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาไกรเพชรัตนสงคราม 3. กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ 4. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 5. กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย แถวยืน 1. พระยาสฤษดิ์พจนกร (เสง วิริยศิริ)  ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์ 2. พระยาประสิทธิศัลยการ (สอาด  สิงหเสนี) 3. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ 4. พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร)

พ.ศ. 2439 ได้ตั้งมณฑลขึ้นใหม่อีก 2 มณฑล และจัดระเบียบมณฑลที่มีแต่เดิมให้เป็นมณฑลเทศาภิบาลอีก 1 มณฑล ดังนี้

        1. มณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 10 เมือง คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ รามันห์ สายบุรี และหนองจิก มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองสงขลา
        2. มณฑลชุมพร (มณฑลสุราษฎร์ธานี) ประกอบด้วย 4 เมือง คือ ชุมพร ไชยา หลังสวน และกาญจนดิษฐ์ มีพระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี (คอ ชิมก๊อง ณ ระนอง) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองชุมพร
        3. มณฑลบูรพา (มณฑลเขมรเดิม) เป็นมณฑลก่อน พ.ศ. 2437 เพิ่งมายกเป็นมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ. 2439 ประกอบด้วย 3 เมืองคือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่คนแรก ช่วงแรก บัญชาการอยู่ที่เมืองพระตะบอง

        พ.ศ. 2440 ตั้งมณฑลไทรบุรี ประกอบด้วย 3 เมือง คือ ไทรบุรี ปลิส และสตูล มีพระยาฤทธิสงครามภักดี (อับดุล ฮามิด) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองไทรบุรี เป็นหัวเมืองไทยมลายูฝ่ายตะวันตกและ เป็นเมืองประเทศราช

        พ.ศ. 2442 ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 2 เมือง คือ เพชรบูรณ์และหล่มสัก มีพระยาเพชรรัตน์ราชสงคราม (เฟื่อง เฟื่องเพชร) เป็นข้าหลวงใหญ่ บัญชาการอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งและปรับปรุงเรื่อยมาจน พ.ศ. 2449 จึงจัดได้เรียบร้อย มีทั้งหมด 18 มณฑล มณฑลที่ตั้งสุดท้ายคือ มณฑลจันทบุรีเพราะฝรั่งเศสยึดครองอยู่ เมื่อเป็นอิสระจึงได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2449 มณฑลเทศาภิบาลมีทั้งหมด ดัง นี้
1. มณฑลลาวเฉียง
2. มณฑลลาวพวน
3. มณฑลลาวกาว
4. มณฑลลาวกลาง
5. มณฑลเขมร
6. มณฑลภูเก็ต
7. มณฑลพิษณุโลก
8. มณฑลปราจีนบุรี
9. มณฑลราชบุรี
10. มณฑลนครชัยศรี
11. มณฑลนครสวรรค์
12. มณฑลกรุงเก่า
13. มณฑลฝ่ายตะวันตก
14. มณฑลนครศรีธรรมราช
15. มณฑลชุมพร
16. มณฑลปัตตานี
17. มณฑลไทรบุรี
18. มณฑลจันทบุรี
ในช่วงแรกของการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ในการปฏิรูปการปกครองหรือการเปลี่ยนผ่านจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินามาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นอำนาจรัฐใหม่ที่มีศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหลายประการ นับจากปัญหาด้านการเงินสำหรับเงินเดือนของข้าราชการแบบใหม่ งบประมาณในการก่อสร้างสถานที่ทำการของราชการ ตลอดจนบ้านพักข้าราชการที่อาจส่งไปจากส่วนกลาง ซึ่งหาได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่การปกครองแบบเดิม หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงวางรากฐานเพื่อรับมือกับปัญหานี้ไว้ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ (ครั้งที่ 2) ในปี พ.ศ. 2416 แล้ว คือการปรับปรุง (ปฏิรูป) วิธีการเก็บภาษีอากรเพื่อให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามหัวเมืองต่างๆ โดยมีพนักงานไปจัดเก็บภายใต้การควบคุมของข้าหลวงเทศาภิบาล แทนการเก็บเงินค่าราชการแบบเดิม ซึ่งจะใช้การเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วย การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการปลดปล่อยทาสไพร่อันเป็นพลังการผลิตหลักในสังคมเกษตรกรรม เพื่อไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ต้องการตลาดการค้าและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อขายแทนที่การผลิตเพื่อใช้สอยในครัวเรือนหรือในชุมชนท้องถิ่น และประกอบกับรัฐบาลเองก็ต้องการเงินมากกว่าแรงงาน การเก็บเงินค่าราชการก็ได้เริ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการเร่งรัดเงินส่วยจากมูลนายที่มีหน้าที่ในการรวบรวมเงินส่วยหรือเงินค่าราชการ เมื่อไม่มีเงินจ่าย มูลนายต้องคืนไพร่สมให้หลวงจนหมด (ไพร่หลวง) นโยบายนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรในระดับรากหญ้ามากขึ้นทุกที เพราะพวกมูลนายไปเร่งรัดเอาเงินซึ่งเก็บมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่เสมอกัน ใน ร.ศ.115 (พ.ศ.2439) จึงออกกฎหมายให้ราษฎรทุกคนเสียค่าราชการคนละ 6 บาทโดยเท่าเทียมกันเป็นมาตรฐานแต่นั้นมา

ปัญหาต่อมาคือปัญหาการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการรับใช้รูปแบบปกครองระบอบใหม่ ซึ่งรวมถึงกระบวนการฝึกฝนคนเพื่อเป็นขุนนางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฯให้ก่อตั้ง "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิด เพื่อเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่นๆ ต่อมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

และสุดท้าย ปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนต้องใช้ความระมัดระวังและกุศโลบายในการรับมือแก้ไขคือ การเปลี่ยนแปลงที่ทรงริเริ่มนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนจนถึงขั้นสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองเก่าที่เคยมีผลประโยชน์ มีอำนาจ โดยเฉพาะหัวเมืองที่ติดกับเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอาจเกิดการต่อต้าน จนเจ้าอาณานิคมฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 10-16 พฤศจิกายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8