จาก "วิกฤตการณ์วังหน้า": ความสำคัญของ "ระบบไพร่"
ไพร่' (ภาพถ่ายราวรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
"วิกฤตการณ์วังหน้า" นั้น เกิดขึ้นจากการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยได้จากการปกครองใน "ระบอบศักดินา" หรือที่เรียกกันว่า "ระบอบจตุสดมภ์" ผู้นำที่เตรียมก่อการคือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ "วังหน้า" ซึ่งก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แม้พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงย้อนถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้ว ด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง นอกจากนั้นยังทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และเข้าไปคบค้าสนิทสนมกับนายโทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษมีท่าทีคุกคามสยาม ถึงขั้นยกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง เชื่อว่ามีแผนการจะแบ่งดินแดนเป็นสองส่วนคือ ทางเหนือถึงเชียงใหม่ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าครอง ทางใต้ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญครอง นัยว่าเมื่อแบ่งสยามให้เล็กลงแล้วจะได้อ่อนแอ ง่ายต่อการเอาเป็นเมืองขึ้น
ระหว่างนั้น เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย เรื่องจึงยุติลง โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ในการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นระบอบราชาธิปไตยหรือ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 (28 สิงหาคม พ.ศ. 2428) พระชนมายุ 48 พรรษา พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2429 และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งว่างลง จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นมกุฎราชกุมาร และยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา
ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปฏิรูประบอบการปกครองโดยเริ่มจากการ "รวมศูนย์อำนาจทางการเงินการคลัง" มาสู่ราชสำนักโดยตรง อันนำไปสู่การเกิด "วิกฤตการณ์วังหน้า" ซึ่งเป็นจุดเริ่มตันของการ "รวมศูนย์อำนาจทางทหาร" โดยทรงเห็นเหตุที่เชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์มี "ทหารส่วนตัว (ไพร่สม)" อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยสิทธิขาดแล้ว แนวพระราชดำริเกี่ยวกับประเด็น "กองทัพ" ก็ก่อรูปขึ้น ซึ่งหมายถึงการเตรียมการ "เลิกไพร่" และรวมถึงการ "เลิกทาส" ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม
สำหรับสังคมไทยจากยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "ไพร่" หรือ "ชนชั้นรากหญ้า" ที่มีมีความสำคัญต่อรากฐานทางการผลิตและการถือครองอำนาจมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเป็นแรงงานด้านโยธาให้แก่ราชการ, เป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้มูลนายของตนเอง, เป็นกำลังในการผลิตภาคการเกษตรกรรม หากผลผลิตตกแก่มูลนายตันสังกัด และเป็นกำลังในการรบยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม
ทั้งนี้ "ไพร่" หมายถึง ราษฎรสามัญชนทั่วไป ทั้งชายและหญิง ที่ไม่ได้เป็น "ทาส" (จะกล่าวถึงในตอนต่อไป) หรือ "คนต่างด้าว" เช่นในปี พ.ศ. 2400 มีการประกาศผูกปี้ข้อมือจีน เพื่อเป็นการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว (ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ชาวต่างชาติในสยามจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ หรือจะยอมรักษาความเป็นชนชาติกำเนิดของตนและอยู่ในสถานภาพเป็นคนต่างด้าว) โดยที่ราษฎรทั้งแผ่นดินไม่เว้นแม้แต่ "ไพร่" ล้วนมี "ศักดินา" (ศักดินาคือตัววัดในการปรับไหมและพินัย ในกรณีขึ้นศาล คนที่ถือศักดินาสูง เมื่อทำผิดจะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ การปรับในศาลหลวง ค่าปรับนั้นก็เอาศักดินาเป็นบรรทัดฐานการกำหนดระบบศักดินาขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน หน่วยที่ใช้ในการกำหนดศักดินา ใช้จำนวนไร่เป็นเกณฑ์ แต่มิได้หมายความว่าศักดินาจะเป็นข้อกำหนดตายตัวเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ศักดินา ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นวิธีการลำดับ "ศักดิ์" ของบุคคลตั้งแต่ พระมหาอุปราช ขุนนาง ข้าราชการ ลงไปจนถึงไพร่และทาส) ระหว่าง 10-25 ไร่ ในกรณีมีโอกาสเข้ารับราชการจะได้เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย เช่น ขุน หมื่น เป็นต้น จะถือศักดินา 25-400 ไร่ สำหรับฐานะ หน้าที่ และประเภทของไพร่ โดยสรุปสถานภาพในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น จำแนกได้ดังนี้
1. ฐานะของไพร่ในสังคม ไพร่ทุกคนต้องเข้าสังกัดมูลนาย เพื่อแลกกับการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไพร่จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในรูปใดทั้งสิ้น
2. หน้าที่ของไพร่ ไพร่จะต้องเข้าเวร (รับราชการ) ปีละ 6 เดือน ไพร่ที่เป็นแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย อายุระหว่าง 20-70 ปี เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ไพร่เหล่านี้ต้องทำหน้าที่ทหาร
3. ประเภทของไพร่ แบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่ ไพร่หลวง คือไพร่ในสังกัดของพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่จะทรงแจกจ่ายไปยังกรมหน่วยงานราชการต่างๆ ตามแต่จะทรงเห็นสมควร และความต้องการของแต่ละส่วนราชการส่วนกลาง, ไพร่สม คือเป็นไพร่ในสังกัดของเจ้านาย ขุนนาง นอกจากมีหน้าที่รับใช้เจ้านายที่สังกัดอยู่โดยตรงแล้ว ยังมีพันธะที่ต้องเข้าเวรรับราชการด้วย แต่ภาระน้อยกว่าไพร่หลวง คือเพียงปีละ 1 เดือน และไพร่ส่วย คือไพร่หลวงที่ได้รับการยกเว้นจากการไม่ต้องเข้าเวรรับราชการ แต่ต้องส่งเงินหรือสิ่งของมาทดแทน เรียกว่า เงินค่าราชการ.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน