Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (5)

บทเกริ่นการรัฐประหารในสยาม:
1 เมษายน 2476 รัฐประหารตัวเอง

สามทหารเสือ คณะราษฎรฝ่ายทหารบก จากซ้ายไปขวา พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ที่ร่างโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เนื่องจากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เห็นด้วยในร่างธรรมนูญฯดังกล่าว โดยการบริหารประเทศรูปแบบใหม่ภายใต้ฝ่ายบริหารที่เรียกว่า "คณะกรรมการราษฎร" และหัวหน้าคณะที่เรียกว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร"

ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คณะกรรมการราษฎรจึงออกแถลงการณ์ยืนยันความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมดังเจตนารมณ์คณะราษฎรผู้นำการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้น

แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร

เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.นี้  และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร

ประกาศ  ณ วันที่  1 กรกฎาคม  2475

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรจึงผ่านผ่านการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บริหารประเทศชุดใหม่ในนามใหม่ คือเป็น "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรี" โดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน

โดยมูลเหตุบนพื้นฐานหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในข้อที่ 3 คือ "จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรและมีส่วนอย่างสำคัญในการร่างหลัก 6 ประการดังกล่าว ได้เสนอ "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" หรือเรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา 14 คน โดยประชุมในวันที่ 12 มีนาคม ในการประชุมมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่คัดค้านนำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิศาลวาจา และพระยาทรงสุรเดช ฝ่ายสนับสนุนนำโดย หลวงประดิษฐมนูธรรม นายแนบ พหลโยธิน นายทวี บุณยเกตุ และ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ทำให้มติของคณะอนุกรรมการไม่เป็นที่เด็ดขาด ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มเติม

แต่แล้วหลังจากคณะรัฐมนตรีใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ครั้งในวันที่ 25 และ 28 มีนาคม โดยหลวงประดิษฐ์ฯ ยืนยันว่าจะลาออกหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้หลวงประดิษฐ์ฯ ลาออก แต่ในการประชุมครั้งที่สอง ฝ่ายพระยามโนฯ ได้นำพระราชบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ถึง 11 เสียง ต่อ 3 เสียง (งดออกเสียง 5 คน) จากจำนวนผู้เข้าประชุม 19 คน

มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาสู่การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงทุกวันเป็นเวลาถึง 3 ใน 4 ศตวรรษ คือ มีความเห็นหลายฝ่ายมองว่า "สมุดปกเหลือง" นั้นมีลักษณะเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ บ้างถึงกับกล่าวว่าถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ พระยาทรงสุรเดช ชักนำพระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎรส่วนใหญ่รวมทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนายังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่

ทั้งนี้ในช่วงก่อนหน้า คือในวันที่ 17 มีนาคม มีกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องคำสั่งห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ในวันที่ 30 มีนาคม ที่ประชุมสภาฯ มีมติว่า รัฐบาลกระทำผิดรัฐธรรมนูญและให้ถอนคำสั่ง

คณะนายทหารที่สนับสนุนพระยามโนฯ มีการเคลื่อนไหวกดดันฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดีว่า จะพกปืนเข้าที่ประชุมสภาฯ และยกพวกไปล้อมบ้านพักของนายปรีดี ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างให้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารเงียบ" มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 และกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก และสุดท้ายคือบีบบังคับนายปรีดีไปที่ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ปิดสภาฯของพระยามโนฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 มีความว่า

"...ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ..."

การรัฐประหาร (ตัวเอง) ครั้งแรกโดยฝ่ายบริหาร มาพร้อมกับข้อกล่าวหาของผู้เผด็จอำนาจในสยามประเทศชนิดครอบจักรวาลที่ใช้สืบเนื่องมาหลายปี นั่นคือข้อหา...

"มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์".


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-27 สิงหาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน


หมายเหตุ: เพื่อให้ผู้อ่านไม่เกิดความสับสนในลำดับเหตุการณ์ช่วงการอภิวัฒน์ 2475 จนถึงปี 2484 จึงขอนำใจความสำคัญของ "ประกาศ ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่" ลงวันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 ดังนี้:

"โดยที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องต้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปี ต่อมา จารีตอันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒

แต่ในนานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี การนิยมใช้วันที่ ๑ มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใดประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีเหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ ๑ มกราคม ก็ใกล้เคียงกับวันแรม ๑ ค่ำ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องต้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล

อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ และพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นอันว่าทางรัฐนั้นได้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่แล้ว

จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ"

ฉะนั้น ก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2484 การลำดับเดือนในหนึ่งปีจึงเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายน และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม.
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8