สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์
ราชอาณาจักรสยามที่เป็นประชาธิปไตย
ราชอาณาจักรสยามที่เป็นประชาธิปไตย
ประชาชนหลั่งไหลไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
วันที่ 24 มิถุนายน 2475
เมื่อหลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ ได้รับทราบถึงการตัดสินพระทัยต่อการก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงรีบแจ้งข่าว ให้ นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (ในฐานะผู้รักษาการแม่ทัพเรือ) ทราบเมื่อเวลา 10.50 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน 2475 เพื่อถ่ายทอดถึงคณะราษฎรและผู้รักษาพระนคร ว่า ในหลวงได้มีพระราชหัตถเลขาตอบรับคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ ว่าจะยอมเป็นพระเจ้าอยุ่หัวภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามที่คณะราษฎรได้แจ้งให้พระองค์ทราบ และให้จัดขบวนรถไฟพิเศษให้พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ประทับ ตามพระราชประสงค์ ข้อความในพระราชหัตถเลขามีดังนี้
**********
สวนไกลกังวล หัวหินวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ด้วยได้ทราบความตามสำเนาหนังสือที่ได้ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธรว่า คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพระเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฏร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก ถ้าเพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ
ความจริงตัวข้าพเจ้าเองในเวลา นี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง ที่พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ
ประชาธิปก ปร.
**********
รถไฟพิเศษได้มาถึงหัวหินเวลา 17.00 น. จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมด้วย พลโท พระยาวิชิตวุฒิไกร (สมุหราชองครักษ์) และข้าราชบริพาร มาถึงสถานีหัวหิน จากนั้นเสด็จประทับบรถไฟพระที่นั่ง ซึ่งมีคณะรับเสด็จประกอบด้วย สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์, นายพลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน, นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร, หม่อมเจ้าฉัตรมงคล และ นายทหารชั้นเรือเอกจากเรือหลวงสุโขทัย รออยู่แล้ว
วันอาทิตย์ 26 มิถุนายน เวลา 00.35 น. ขบวนรถไฟพิเศษจากหัวหิน เสด็จถึงสถานีจิตรลดา มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์ เย็น อิสรเสนา ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงวัง และข้าราชการกระทรวงวัง 3-4 นาย ได้มารับเสด็จโดยไม่มีกองเกียรติยศ ในหลวงได้มีพระราชปฏิสันถารกับเสนาบดีกระทรวงวัง จากนั้นเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งไปยังวังศุโขทัย ส่วนเจ้านายที่ตามเสด็จได้ประทับรถยนต์ไปพักที่บ้านกรมหลวงสิงห์วิกรมไกร และกรมพระกำแพงเพชรฯประทับรถกลับวังบ้านดอกไม้
ส่วนร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ, นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม และนายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ ประทับรถไฟต่อไปยังสถานีกรุงเทพ พอถึงสถานีกรุงเทพก็เจอกับทหารที่ตั้งแถวรออยู่ และนายเรือเอกที่ตามพระองค์เจ้าอลงกฏมา ได้ชักปืนจี้พระองค์พร้อมวัทยาหัตถ์ พาพระองค์ไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
ต่อมาในเวลา 10.00 น. ผู้แทนคณะราษฎร นำโดย พลเรือตรี พระยาสรยุทธเสนี, พันโท พระประสาสน์พิทยายุทธ หนึ่งใน 4 ทหารเสือ, พันตรี หลวงวีรโยธา ผบ. ร.2 พัน. 3, อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี, นายจรูญ ณ บางช้าง และ นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมคณะราษฎร และร่างรัฐธรรมนูญที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างไว้ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ทรงรับสั่งถามว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายังมิได้อ่าน เพราะมิใช่หน้าที่โดยเฉพาะและได้กราบทูลต่อไปว่า ทางพระยาทรงสุรเดชได้ประชุมกำชับไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้ว ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เรื่องอะไรจึงต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย
พระยาทรงสุรเดชกราบทูลขอพระราชทานอภัยที่มิได้อ่านมาก่อน และถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เวลา 10.45 น. ผู้แทนคณะราษฎร์จึงถวายบังคมลา
ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดา ฯ และในวันเดียวกันก็ได้มีประกาศวิทยุเป็นทางการทั่วประเทศ ที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย
จากนั้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม คณะกรรมการราษฎรจึงได้ออก "แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" ดังนี้
**********
แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร
เนื่อง แต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร
ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2475
**********
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน