คณะราษฎรและเสรีไทย
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา
พลพรรคเสรีไทยส่วนหนึ่งก่อนกองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจะยอมจำนน
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์และอีกหลายจังหวัดภาคกลาง เปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพา มีการต่อสู้อย่างดุเดือดเป็นเวลา 3 วัน เพื่อต่อต้านการรุกรานของมหาอำนาจหนึ่งเดียวในทวีปเอเชียในเวลานั้น แต่แล้วรัฐบาลไทย โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยอมยุติการต่อสู้กับกองกำลังญี่ปุ่น และประกาศหยุดยิงในวันที่ 11 ธันวาคม จากนั้นตัดสินใจเดินหน้าเข้าร่วมวงไพบูลย์และทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 21 ธันวาคม เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย และในที่สุดก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. 2482
ฝ่ายอังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตามนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชการที่ 8 และคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เช่น นายทวี บุณยเกตุ และ นายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้ นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้นายปรีดีไม่ยอมร่วมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าหากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย
ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทยในรหัสนามว่า "รูธ" (Ruth) นายปรีดีต้องทำงานในลักษณะตีสองหน้าตลอดช่วงสงคราม ทั้งถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยทั้ง 3 สาย คือ สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า สายอังกฤษ ซึ่งมี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้า และสายในประเทศ ซึ่งนายปรีดีเป็นทั้งหัวหน้าและเป็นทั้งศูนย์กลางการประสานงานเสรีไทยทั้งขบวนเข้าด้วยกัน ถือเป็นงาน "ใต้ดิน" และต้อง "ปิดลับ" ในระดับสูงสุด พลพรรคเสรีไทยจะรู้จักกันเฉพาะในหน่วยของตน และหัวหน้าหน่วยจึงจะมีการรวมกลุ่มจัดสายบังคับบัญชากันเป็นชั้นๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ
1. ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
2. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
3. ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
วันที่ 24 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกดดันให้ลงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยนายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นรัฐบาลรักษาการณ์
ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2487 พลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และ 24 สิงหาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรอ้างเหตุผลทางยุทธศาสตร์ขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน
แต่แล้วในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
และในเวลาอันรวดเร็ว ฝ่ายสัมพันธมิตรก็แจ้งแก่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และขอให้ท่านรีบออกแถลงการณ์ในนามผู้สำเร็จราชการฯ ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐบาลไทยในสมัยหนึ่งได้ทำไว้กับญี่ปุ่น
ดังนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึง "ประกาศสันติภาพ" ดังความบางตอนว่า
"ประเทศไทยได้เคย ถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว เมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง ทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก"
"เหตุการณ์อันปรากฏเป็น สักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง"
"จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทน ประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดี อันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้"
วันที่ 20 สิงหาคม รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 1 กันยายน นายทวี บุณยเกตุ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการ ซึ่งรัฐมนตรีในรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเสรีไทย และอีกเพียง 17 วันให้หลัง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา เพื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จากนั้นในวันที่ 25 กันยายน 2488 นายปรีดีจึงประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย
"ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวงซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้"
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน