Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (13)

กบฏพระยาทรงสุรเดช:
การแตกหักในฝ่ายทหารคณะราษฎร

คณะราษฎรสายทหารบก พระยาทรงสรุเดช แถวนั่งเก้าอี้ คนที่ 4 จากซ้าย

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการปรามการก่อกบฏนายสิบ ดูเหมือนสถานการณ์การเมืองจะเงียบสงบมาระยะหนึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี สามารถรักษาสถานภาพการปกครองมาตั้งแต่ ปี 2476 มาจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2480 จึงเป็นโอกาสของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ 2 หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 โดยในครั้งนี้ มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 91 คน และสภามีมติให้พระยาพหลฯ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2481 รัฐบาลของพระยาพหลฯ แพ้มติในสภาในบัญญัติข้อแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลฯ จึงได้ขอลาอออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมรับใบลาออกเนื่องจากในขณะนั้นสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศมีความตึงเครียด ในประเทศมีความขัดแย้งต่อเนื่องในคณะราษฎรฝ่ายทหารบก นับจากช่วงรอยต่อการอภิวัฒน์สยาม ระหว่างพระยาทรงสุรเดช ซึ่งอยู่ในกลุ่มนายทหารอาวุโส กับหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะทหารหนุ่ม ตามมาด้วยการสนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์คราวกบฏบวรเดช

เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิเสธการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯจึงตัดสินใจตามวิถีทางประชาธิปไตยและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อซาวเสียงเลือกนายก รัฐมนตรีในวันที่ 16 ธันวาคม 2481 สภาฯ ก็มีมติเลือก พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพราะพระยาพหลฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งโดยข้ออ้างด้านปัญหาสุขภาพสุขภาพ

หลังการอภิวัฒน์สยาม หลวงพิบูลสงครามกลายเป็นผู้ทรงอำนาจทางทหารที่ค้ำอำนาจนายกรัฐมนตรีของพระยาพหลฯ มาโดยตลอด กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาพระนคร ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังปราบปรามกบฏบวรเดช ในขณะที่คณะรัฐบาลและนายทหารอาวุโสตกอยู่ในภาวะละล้าละลัง เนื่องจากในระยะแรกของการก่อการพระองค์เจ้าบวรเดชสามารถรวบรวมกำลังของทหารหัวเมืองโดยรอบกรุงเทพฯ ให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกได้เป็นจำนวนมาก จนมีกำลังเหนือกว่าทหารของฝ่ายรัฐบาล แต่ด้วยความเด็ดขาดและศักยภาพในการบัญชาการรบ ทำให้ มีทหารฝ่ายกบฏยอมจำนนและแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล จนนำไปสู้การปราบปรามในที่สุด

ในระหว่างที่พระยาพหลฯดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้นเอง มีเหตุการณ์พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกนายพุ่ม ทับสายทอง ใช้ปืนยิงที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 (2478) ครั้งที่ 2 ถูกยิงโดยนายลี บุญตา คนใช้ในบ้านเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2481 และครั้งที่ 3 ถูกวางยาพิษ ซึ่งปรากฏว่าท่านผู้หญิงละเอียด ภริยา ถึงกับต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ปรากฏว่าทั้ง 2 งดการรับประทหารอาหารและน้ำนอกบ้านอยู่ระยะหนึ่ง

หลังจากหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 พระยาทรงสุรเดช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ (เขมร) ทันที พร้อมด้วยร้อยเอก สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท

จากนั้น ในช่วงเช้ามืดวันที่ 29 มกราคม 2481 (2482) จึงมีการกวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่าคิดจะทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลฯด้วย มีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 51 คน ในจำนวนนี้รวมทั้งอดีตนายทหารที่ลาออกเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลพระยาพหลฯ คือ ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ โดยออกมาทำหนังสือพิมพ์ "ชุมชน" ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในเวลานั้น มีผู้ยกย่องว่าเป็นหนังสือพิมพ์อุดมคติ ที่มุ่งมั่นจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ครั้นเมื่อ ร้อยโท ณ เณร ได้รับเลือกตั้งในปี 2481 ได้เข้าสภาฯ เป็น ส.ส. พระนครเขต 2 (เวลานั้นกรุงเทพฯกับธนบุรียังแยกเป็น 2 จังหวัด พระนครมี 3 เขต ส่วนธนบุรี มี ส.ส.ได้เพียง 1 คน) จึงกลายเเป็นหนึ่งใน ส.ส. ฝีปากกล้า ในการอภิปรายจนนายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ ยุบสภาดังกล่าว ซึ่งในการซาวเสียงเลือกนายกฯในเวลาต่อมา ก็แสดงตัวสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชเป็นนายกฯอย่างแข็งแรงทั้งในสภาและผ่านทางหนังสือพิมพ์

ในการกวาดล้างจับกุมครั้งนั้นผู้ต้องหาที่สำคัญประกอบด้วย
1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
2. พลโท พระยาเทพหัสดิน - อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1
3. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ - อดีตรัฐมนตรี
4. พระวุฒิภาคภักดี
5. พันเอก พระสิทธเรืองเดช อดีตรัฐมนตรี
6. พันโท พระสุระรณชิต
7. ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร
8. ร้อยเอก หลวงภักดีภูมิภาค
9. ร้อยโท ชิต ไทยอุบล
10. หลวงสิริราชทรัพย์
11. นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
12. ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
13. นายดาบ พวง พลนาวี - ข้าราชการรถไฟ พี่ชายของคุณหญิงทรงสุรเดช ภรรยาพระยาทรงสุรเดช
14. พันเอก หลวงมหิทธิโยธี - ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
15. ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์ - นายทหารประจำการ
16. พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ - อดีตรัฐมนตรี
17. ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ - นายทหารประจำกองบังคับการ รร.รบ เชียงใหม่
18. พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท - นายตำรวจประจำการ
19. พันตรี หลวงไววิทยาศร - นายทหารประจำการ
20. นายทหารฝึกหัดราชการ รร.รบ เชียงใหม่ ลูกศิษย์พระยาทรงสุรเดช 5 นาย คือ ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี, ร้อยโท แสง วัณณศิริ, ร้อยโท สัย เกษจินดา, ร้อยโท เสริม พุ่มทอง และร้อยโท บุญลือ โตกระแสร์
21. ร้อยเอก ชลอ เอมะศิริ - หลานชาย พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ 1 ใน 4 ทหารเสือ
22. พลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
23. นายโชติ คุ้มพันธ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
24. พระยาวิชิตสรไกร


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 23-29 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8