Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (14)

รัฐบาลพิบูลสงครามในกรณีพิพาทอินโดจีน
และการเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา

จอมพล ป. เดินตรวจแถวและทักทายทหารที่จะไปร่วมรบในสงครามอินโดจีน

หลังจากการกวาดล้างจับกุมเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการกล่าวโทษความพยายามก่อกบฏทั้งที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดแล้ว การดำเนินการพิจารณาคดีในศาลพิเศษดังกล่าว ยังเป็นการดำเนินการกล่าวหาโดยยกพยานหลักฐานและพยานบุคคลของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ทางฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนายขึ้นมาแก้ต่างตามคำกล่าวหาแต่อย่างใด กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปในเวลานั้น ค่อนข้างสรุปตรงกันและบ่งชี้ไปว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกำจัดศัตรูของหลวงพิบูลสงคราม

ศาลพิเศษซึ่งมี พันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นประธาน ตัดสินว่า มีการเตรียมการยึดอำนาจโดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำ ในการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482 ให้ปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน จำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน ส่วนโทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งในการพิพากษาคดีมีคำสั่งให้ถอดจากฐานันดรศักดิ์ลงมาเป็นสามัญชน ถูกจำคุกอยู่จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2486 ก็ได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลหลวงพิบูลฯ และได้รับฐานันดรศักดิ์คืนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ร่วมกับพระยามานวราชเสวี เนื่องจากในขณะนั้นยังมิได้ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ

2. พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

3. พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร

นักโทษการเมืองหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง จากนั้นนักโทษประหารชีวิตถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน จนครบจำนวน 18 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "กบฏ 18 ศพ"

สำหรับบทบาทและแนวทางการบริหารประเทศของ พลตรี แปลก พิบูลสงคราม ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปี 2481 ประกาศนโยบายสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ประกาศคำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" เพื่อชักชวนให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย อันเป็นการส่งเสริมผลักดันการพัฒนาการผลิตของประเทศ

นอกจากนั้น รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี 2484 ทำให้ ปี 2483 มีเพียง 9 เดือน ประกาศจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ และสั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดพยัญชนะในภาษาไทยที่ออกเสียงซ้ำกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ ก่อให้เกิดความสับสนกันทั่วไป

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งให้ พลตรี แปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้นำที่มีความโดดเด่น นอกเหนือจากการเป็นกำลังสำคัญในการปราบกบฏบวรเดช คือ "กรณีพิพาทอินโดจีน"

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน (ลาว เขมร และเวียดนาม) ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม อันเป็นการเปิดฉากการรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาลไทยส่งทหารรุกเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร การรบทำท่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ แต่ขณะนั้นญี่ปุ่นซึ่งกำลังวางแผนจะสร้างอิทธิพลในเอเชียอาคเณย์ เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนาม อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว (Tokyu Convention) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ แขวงไชยะบุรี คืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี 2450 กลับคืนมาด้วย

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 โดยที่ทำความชอบในการเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสามารถทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสหลายแห่ง) เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485

แต่แล้วด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง และจุดยืนที่จะสร้างชาติที่เข้มแข็ง เป็นอิสระจากมหาอำนาจตะวันตกที่เจ้าอาณานิคมในภูมิภาค คือฝรั่งเศสทางทิศตะวันออก อังกฤษทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ทำให้ตัดสินใจเป็นพันธมิตรและเข้าร่วม "วงไพบูลย์" กับญี่ปุ่นในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิก หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี 2485 ซึ่งเท่ากับประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฝ่าย "อักษะ" ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนีและอิตาลีในทวีปยุโรป กับญี่ปุ่นในทวีปเอเชีย และทันทีที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐที่เพิร์ลฮาเบอร์ ในหมู่เกาะฮาวาย ไทยก็ตัดสินใจประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ร่วมกับญี่ปุ่นทันทีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ความกดดันจากสถานการณ์ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม ดังนั้นการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นก็เหมือนกับการเข้าร่วมกับผู้ชนะ ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ร่วมกับผู้ชนะ.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริ
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8