Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (8)

กองทัพประชาธิปไตยโจมตีตลอดแนว
กองกำลังกบฏบวรเดชระส่ำระสาย

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiYGUZ2oXvSTGihxnr_GpwBU46uocQgPndgBBFqsl4oXfpGDb89DnhBGktmazMAvFuPIXYqUzJgCM-HUIuWBrIb0JG93U0jXdYOUJOkCHBuhyAKssMq1EZVlLilsBRN5w7xbqTgkhaOsA/w400-h237-no/
การลำเลียงกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลที่สถานีรถไฟบางซื่อ มุ่งหน้าไปยังสระบุรี

จากนั้นฝ่ายรัฐบาลได้ส่ง พันตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) เป็นตัวแทนไปเจรจาให้ฝ่ายก่อการกบฏยอมปลดอาวุธและถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้ง ซึ่งฝ่ายกบฏปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทั้งยังสั่งจับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไว้เป็นเชลยเป็นการตอบโต้การจับกุมตัว นาวาโท พระแสงสิทธิการ

ครั้นราวตอนเที่ยงของวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 13 ตุลาคม ฝ่ายกบฏก็ส่ง พันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (หลง สินสุข) เจ้ากรมอากาศยาน พันโท พระเทเวศร์อำนายฤทธิ์ (ประเสริฐ อินทุเศรษฐ์) ผู้ช่วยเจ้ากรมอากาศยานฝ่ายยุทธการ และ เรืออากาศเอก เสนาะ รักธรรม เป็นคณะผู้แทนไปยื่นข้อเสนอของพระองค์เจ้าบวรเดชต่อฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง มีใจความสำคัญ 6 ประการดังนี้
  1. ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยาม มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน
  2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาล ต้องเป็นไปตามเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำด้วยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณะการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการ ทั้งทหารและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ในการเมืองโดยตรง แต่ความเห็นข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำการ จะนิยมยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้คนอื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารเรือลงไป ต้องไม่มีหน้าที่ในการเมือง
  4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิ ความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบ หรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุ หรือเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก 
  6. การปกครองกองทัพบก จักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้มีกำลังเป็นส่วนใหญ่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง
สุดท้ายได้ขอประกาศนิรโทษกรรมแก่คณะตนเอง ซึ่งคำขอทั้งหมดนี้ทางฝ่ายรัฐบาลได้บอกปัดข้อเสนอโดยสิ้นเชิง โดยอ้างว่าทุกสิ่งที่รัฐบาลได้ปฏิบัติการไปแล้วนั้นล้วนถูกต้องเหมาะสมแล้ว ความตอนหนึ่งในหนังสือตอบของพระยาพหลฯ ที่มีไปถึงพระองค์เจ้าบวรเดชมีใจความว่า
"คณะรัฐบาลนี้ เป็นคณะซึ่งเคารพนับถือต่อรัฐธรรมนูญ กอปรด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ประมุขของชาติ และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกประการ ตลอดทั้งการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นหลักพยานให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคำขอของท่านก็เป็นอันตกไป..."
เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล การสู้รบจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มเปิดฉากโจมตีกองกำลังฝ่ายกบฏ โดยระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากฐานยิงบางซื่อราว 40 นัดไปยังแนวรบของฝ่ายกบฏ พร้อมกับรุกเคลื่อนที่เข้าโจมตีฝ่ายกบฏ การปะทะกันอย่างหนักได้มีขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมตลอดทั้งวัน ฝ่ายกบฏตกเป็นเบี้ยล่างตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเสบียงอาหารก็ดี อาวุธก็ดี กำลังขวัญก็ดี เสียเปรียบฝ่ายรัฐบาลทุกอย่าง ขณะที่หน่วยทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์เคลื่อนกำลังมาเพื่อสมทบกับกำลังฝ่ายกบฏนั้น ก็ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลที่สถานีโคกกระเทียมตีสกัดไว้จนถอยร่นไม่เป็นขบวน ตัว พระยาเสนาสงคราม แม่กองคุมกำลังหนีเล็ดลอดลอบมาสมทบได้ในภายหลัง

กองทหารเพชรบุรีก็ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลที่ราชบุรีตีสกัดกั้นไว้ที่สถานีบ้านน้อย (สถานีเขาย้อย) ส่วนทางกองทหารจากปราจีนบุรี เริ่มไม่มั่นใจว่าฝ่ายกบฏจะได้รับชัยชนะ จึงประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลทำการปราบปรามฝ่ายกบฏ เหตุการณ์ระส่ำระสายทำให้ฝ่ายกบฏสูญเสียกำลังใจในการสู้รบเป็นอย่างมาก

ถึงกระนั้นทางฝ่ายกบฏก็ยังคงปักหลักต่อสู้อย่างเหนียวแน่น จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม แนวรุกฝ่ายกบฏที่สถานีรถไฟหลักสี่ ซึ่งมีกำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยจากนครราชสีมาประกอบด้วยปืนกลหนัก 5 กระบอก สามารถรุกไล่ทหารฝ่ายรัฐบาล จนเข้ายึดคลองบางเขนไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

รุ่งขึ้น วันที่ 15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายกบฏจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏซึ่งเป็นรองทั้งกำลังสนับสนุนและอาวุธต่างๆ จำเป็นต้องถอยกลับ

และเมื่อเห็นจวนตัวเข้า ฝ่ายกบฏได้ใช้หัวรถจักรฮาโนแม็กเปล่าๆ หมายเลข 277 พุ่งชนรถไฟลำเลียงพลของกองทัพรัฐบาล จนมีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากก่อนล่าถอยไปโคราช เช่น หลวงกาจสงคราม ก็หูขาดจากการสู้รบครั้งนี้ โดยคนขับเป็นนายทหารหนุ่มชื่อ อรุณ บุนนาค ซึ่งต่อมาถูกจับและส่งตัวไปเป็นนักโทษคดีกบฏที่เกาะตะรุเตา พร้อมกับฝ่ายก่อการกบฏจำนวนมาก

วันที่ 16 ตุลาคม 2476 พันโท หลวงพิบูลสงคราม สั่งให้ทหารรัฐบาลรุกตลอดแนว เพื่อยึดดอนเมือง แล้วลงมือกวาดล้างทหารฝ่ายกบฏ ในเวลาเดียวกันรัฐบาลได้แปรสภาพสนามหลวงเป็นสนามบินชั่วคราว ให้นักบินที่สวามิภักดิ์กับรัฐบาลได้นำเครื่องลง ก่อนจะได้รับงานทิ้งสารและใบปลิวทำลายขวัญ และเมื่อขุนรณนภากาศนำเครื่องลงที่ดอนเมืองเมื่อตอนสาย 16 ตุลาคม จึงรู้ว่าทหารนักบินของฝ่ายกบฏที่ดอนเมืองได้ยกธงขาวยอมแพ้ต่อทหารรัฐบาลแล้ว เป็นอันว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายมีชัยในสมรภูมิส่วนหน้า

ถึงตรงนี้ข่าวชัยชนะที่แนวหน้าของฝ่ายรัฐบาลภายใต้การบังคับบัญชาของ พันโท หลวงพิบูลสงคราม ยังผลให้กองกำลังฝ่ายรัฐบาลมีความฮึกเหิมเพิ่มมากขึ้น หน่วยกำลังที่เคยมีแนวโน้มว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏเริ่มเกิดความละล้าละลัง และทยอยกันตีจากมาเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ขั้นต่อไปคือปรับกองกำลังเตรียมรุกขึ้นเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการของพระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้ากบฏ

พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม รวบรวมกำลังพลเท่าที่พอหาได้ตั้งแนวรบในดงพระยาเย็นจากสถานีปากช่องมายังนครราชสีมา และให้ทหารช่างอยุธยาทำลายสะพานและทางรถไฟ หลังจากที่ขบวนรถฝ่ายกบฏจากดอนเมืองขบวนสุดท้ายมาถึงปากช่อง เวลา 13.00 น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กันยายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8