Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (2)

ตุลาการภิวัฒน์: คำวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 23 เมษายน 2549 ในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลไว้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคงเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติสั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาถึงผลการพิจารณากรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ 2 ประเด็น คือ

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายมงคล สระฏัน, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 1 และข้อ 2 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำร้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ นายจุมพล ณ สงขลา, นายมานิต วิทยาเต็ม, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์, พลตำรวจเอกสุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ทั้งนี้ นายมานิต วิทยาเต็ม ซึ่งวินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่แถลงเหตุผลต่อที่ประชุมว่าให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

2. สำหรับประเด็นให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายมงคล สระฏัน, นายมานิต วิทยาเต็ม, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอภัย จันทนจุลกะ และนาย อุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

จากนั้น นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จนนำไปสู่คำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ปฏิกิริยาในสังคมไทยท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่รวมศูนย์ไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วไป จนเป็นกระแสที่เพิ่มทวีความร้อนของอุณหภูมิทางการเมืองมากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่ง นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาและ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนช่วงปลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ว่าเป็น "ขาประจำ" เนื่องจากเขียนบทความแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ว่า "ธีรยุทธ" ชี้มรดกยุคทักษิณ หลังมีกกต.ใหม่-เลือกตั้ง การเมืองยัง 'วิกฤต' โดยมีใจความสำคัญในกรณีกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

"พระราชดำรัส 25 เมษายน ต่อศาล ซึ่งถือเป็นพระราชวิสัยทัศน์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพราะทรงเปิดทางให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของโลกปัจจุบัน...

ตุลาการภิวัฒน์เกิดเพื่อแก้ปัญหาลัทธิถือเลือกตั้งเป็นใหญ่ และเสริมประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งอังกฤษ ก็ได้หันมาใช้ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial review) กันมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ..."


จากนั้นสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีเหตุการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการเตรียมการทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์คือ วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือผู้จัดการได้ประกาศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศระดมพลชุมนุมเช่นกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8