วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553
รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี : ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ก่อนอื่นขออัญเชิญพระราชหัถตเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ที่ทรงพระราชทานแก่คณะราษฎร อันเป็นการประกาศสละราชสมบัติ และทรงแสดงพระราชปณิธานในทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไว้ ณ ที่นี้
********************************
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เปนผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์
ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใด ก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่า มิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชน และประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.
ประชาธิปก.ปร.
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที
********************************
เวลาผ่านไป 75 ปีเศษ การณ์กลับปรากฏว่าสภาพการณ์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ริเริ่มและนำก่อก่อการขึ้นโดยกลุ่มบุคคลอันประกอบด้วยพลเรือนและทหาร ทั้งในและนอกราชการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางอำมาตย์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องยุคลบาทของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 นั้นเอง ยังคงวนเวียนอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคล "เพื่อ ใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญสยามเท่าที่ผ่านมา จากการติดตามบันทึกเท่าที่หาได้ในเวลานี้ (อาจมีบันทึกข้อเท็จจริงและความเห็นอื่น) ทั้งมีข้อมูลบ่งชี้ว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์พระราชทานความเห็นแทบจะโดยตลอด ดังในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก แทนฉบับชั่วคราว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
จากบทความเรื่อง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า (http://www.thaipoliticsgovernment.org) มีข้อความว่า
ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีการประนีประนอมระหว่าง คณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ฯ ต่อสภาฯ ว่า
"…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…" (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย นับจากการเข้ามามีอำนาจครั้งสำคัญของฝ่ายขุนศึก (ทหาร) ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดยนำโดยนายทหารนอกราชการ คือ พลโทผิน ชุนหะวัณ และ นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม นั้น...
จุดเปลี่ยนอย่างสำคัญในทางการเมืองการปกครองภายหลังการอภิวัฒน์ สยาม 24 มิถุนายน 2475 ก็คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่เพิ่งประกาศใช้มาเพียง 18 เดือน และนำรัฐธรรมนูญที่ "คณะรัฐประหาร" จัดเตรียมไว้แล้วอย่างลับๆ จนได้รับสมญานามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม" ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของตัวแทนทางการเมือง 2 กลุ่มสำคัญ คือ "คณะรัฐประหาร" กับ "กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม" และมีสาระสำคัญคือเปลี่ยนแปลงจากการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ...เริ่มจากกำหนดให้ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และมีพระราชอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรี (มาตรา 78) โดยให้ประธานอภิรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้อภิรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ (มาตรา 9 ) อีกทั้ง พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการเพิกถอนรัฐมนตรีได้ด้วยพระบรมราชโองการ (มาตรา 79) และมีพระราชอำนาจในการเลือกวุฒิสภา (มาตรา 33) ทรงมีอำนาจในการตราพระราชบัญญัติในกรณีฉุกเฉินและกรณีการเงิน (มาตรา 80, 81) เป็นต้น ดังนั้นใน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งผลให้การกระทำของพระองค์ปราศจากผู้สนองพระบรมราชโองการ และขัดต่อหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ละเมิดมิได้ นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มากและมีการรื้อฟื้นองค์กรทางการเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมา เช่น การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรี เป็นต้น (http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/รัฐ ประหาร_พ.ศ._2490)
ประเด็นสำคัญหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติแดงทั้งแผ่นดิน ที่มุ่งไปที่การลดบทบาทในการเข้าแทรกแซงการเมืองของประธานองคมนตรีคน ปัจจุบัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นั้น ปรากฏว่าในอดีต มีรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับในยุครุ่งอรุณของระบอบประชาธิปไตยของสยามประเทศ นั่นคือ ฉบับ 2475 และ 2489 หาได้มีบทบัญญัติถึง "องคมนตรี" หรือ "อภิรัฐมนตรี" (รัฐธรรมนูญ 2490 และเปลี่ยนเป็น "องคมนตรี" ในรัฐธรรมนูญ 2492)
ทั้งนี้บทบัญญัติว่าด้วย "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ในรัฐธรรมนูญ 2475 บัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว
ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติว่า...
มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว
นั่นคือ ในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (แห่งรัฐ) นั้น องค์กรทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรที่ปฏิบัติพระราชภาระแทนพระองค์ ล้วนมาจากกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น กล่าวคือ
ในกรณีรัฐธรรมนูญ 2475 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีที่มาโดย
มาตรา ๔๗ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
และสำหรับพฤฒสภา ในรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๒๔ พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนแปดสิบคน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา จาก "ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า" ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า คือการกล่าวถึง "กลุ่มอนุรักษ์-กษัตริย์ นิยม" คือการฟื้นองค์กร "องคมนตรี" ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) 2490 ดังนี้
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน
มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที
ที่น่าสังเกตคือ บทบัญญัติในเรื่ององคมนตรีนี้มีการกำหนดลงไปในรายละเอียดยิ่งขึ้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2492 ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" (http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/รัฐ ประหาร_พ.ศ._2494) ซึ่งมีบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา ๑๙ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา ๒๑ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
จะเห็นว่า นับจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2490 ซึ่งได้มาโดยการรัฐประหาร เป็นต้นมา มีบทบัญญัติว่าด้วยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ "องคมนตรี (อภิรัฐมนตรี)" มากยิ่งขึ้นทุกที.
โพสต์ครั้งแรก 18 ธันวาคม 2009, 21:30:55
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=8964.0
พิมพ์ ครั้งแรก Voice of Taksin
ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 ปักษ์หลัง ธันวาคม 2552
คอลัมน์ รั้งม้าริมผา ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขี ยนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่
บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8