วิวาทะว่าด้วย "แนวคิดศักดินา"
และ "ความเท่าเทียม"
และ "ความเท่าเทียม"
จากวาทกรรมนำไปสู่การโต้แย้งบางระดับในหมู่นักท่องโลกไซเบอร์ ที่เริ่มจากประโยค "ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ" ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ "ระบบศักดินา" พร้อมกับการตั้งคำถามว่าด้วย "ความเท่าเทียม"
ทัศนะจากมิตรสหายคนที่หนึ่ง:
ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ และนายทุน อย่างมากเกินที่จะเยียวยา ในระยะหลายสิบปี ฉะนั้นการปฏิรูปไม่ได้ก่อให้เกิด ระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้จริงได้ ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นได้ว่า พอบ้านเมืองกำลังจะไปได้ดี มันก็ยึดอำนาจกันอีก การปฏิรูปจึงไม่ได้เป็นการแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ
คำถามจาก Chotisak Onsoong:
ระบบศักดินา?
สมัยนี้ยังมีระบบศักดินาอยู่อีกเหรอ?
เอ่อ.. แล้วตอนนี้ใครศักดินาเท่าไหร่บ้างครับ
ฯพณฯ มาร์กซ์ นี่ศักดินากี่ไร่
ทั่นเนวินล่ะ ศักดินาเท่าไหร่
...ทั่นเหลิม ทั่นจตุพรล่ะครับ
แล้วพวกอ้ายอีที่กำลังสนทนากันอยู่ในนี้ล่ะครับ แต่ละคนศักดินากี่ไร่กันบ้าง
เอ แล้วยังงี้ต้องไปเข้าเดือนด้วยหรือเปล่าครับ
ความเห็นจากรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ตามทัศนะส่วนตัว ณ เวลานี้การพิจารณาบริบทนี้ควรอยู่ในขอบเขต "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งอุบัติขึ้นและดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้มาเกือบตลอดสมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งยังปกครองด้วย "ระบอบศักดินา" มาจนถึงปี 2435-3440 จึงเป็น "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" แต่ "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ยังสืบทอดมาในหมู่ "ทาส/ไพร่ที่ปล่อยไม่ไป" และ "กลุ่มอำมาตย์/อภิชน" ที่มีผลประโยชน์จากระบอบศักดินาเดิม และแม้แนวคิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในช่วงปี 2475-2489 แต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือการฟื้นอำนาจของกลุ่ม "กษัตริย์นิยม" ที่พัฒนามาจนหลังการรัฐประหาร 2501 เป็นพันธมิตร 3 ฝ่าย "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก" มีส่วนฟื้นตัวและขยาย "แนวคิดศักดินา" กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง และก่อรูปชัดเจนยิ่งขึ้นช่วงปี 2503-2506
แนวคิดศักดินาคือ การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการแบ่งคนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีการ "กดข่ม" กันลดหลั่นลงไป จนถึง 2 ชั้นล่างสุด คือ "ทาส" และ "ไพร่" ระบอบนี้มีผลอย่างชัดเจนทั้งสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม ผลคือ คนในแต่ละชั้นจะพยายามถีบตัวขึ้นสู่ชั้นเหนือๆขึ้นไป เพื่อที่จะหลีกหนีภาวะการถูก "กดข่ม" และ มีศักยภาพที่จะ "กดข่ม" คนที่อยู่ระดับล่างๆ ลงไป
การแบ่งแยกพลเมืองแบบนี้เอง คือที่มาของ "ชนชั้น"
"ระบอบศักดินา" มีความแตกต่างจากระบอบ "ราชาธิปไตย" หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่ยอดบนสุด คือ "กษัตริย์" และบัญชา หรือ "ให้" อำนาจในการจัดการระบบ แก่ เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด หรือ "ขุนนาง" ที่ไว้วางใจได้
หาก สรุปย่อ สังเกตและวางลำดับพัฒนาการทางการเมืองของสยาม/ไทยในรอบ 150 ปี -> 2417 เริ่มต้นที่จุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบศักดินาเกิด ขึ้นจากกรณีวังหน้า -> 2435-2540 การก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ -> 2440-2475 สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูป -> 2475 การอภิวัฒน์สยาม นำโดยกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่รับอิทธิพลแนวคิดจากชาติตะวันตก -> 2490-2494-2499 การก่อรัฐประหารโดยกลุ่มอำมาตย์และครอบครองอำนาจ โดยกลุ่มอำมาตย์/ขุนศึก; เน้นที่การกวาดล้างสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ -> 2500-2502 การทำรัฐประหารโดยขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2503-2506-2511 การก่อรูปและปิดจุดอ่อนเสริมความแข็งแกร่งของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก -> 2512-2514 กลุ่มอำมาตย์/ขุนศึกปกครองผ่านรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย -> 2514-2516 ระบอบฟาสซิสต์อีกครั้ง -> 2516-2519 การเคลื่อนไหวลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่นำโดยนิสิตนักศึกษา -> 2519-2521 ระบอบฟาสซิสต์ขวาจัดพลเรือน/ทหาร -> 2522-2528 การฟื้นอำนาจ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" -> 2529-2534 รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยและความพยายามครั้งใหม่ของขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2535-2549 การก่อรูปของกึ่งพันธมิตร (ชั่วคราว) ประชาชาติประชาธิปไตยและการตีโต้เผด็จการทหาร นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม -> 2550-2552 การตีโต้และเข้าครองอำนาจของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" พร้อมกับการฟื้นตัวของ "กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม" -> 2552-2553 ขบวนการประชาธิปไตยประชาชนเคลื่อนไหวเป็นคู่ขนานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมลุกขึ้นคัดค้าน "พันธมิตร 3 ฝ่าย"
ข้อสังเกตจาก Chotisak Onsoong:
ในยุคทุนนิยมก็มี "การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน" เช่นในโรงงาน คนงาน 1 คน ย่อมไม่เท่าเทียมกับนายทุน 1 คน หรือยิ่งไปกว่านั้น คนงานพันคนหมื่นคนยังเสียงดังสู้นายทุนคนเดียวไม่ได้เลย หรือถ้านอกโรงงาน ถามว่าคนงานจะไปกินอาหารที่โรงแรม 5 ดาวได้หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ แต่ถามว่าในความเป็นจริงแล้วเราสามารถไปกินอาหารแพงๆได้เท่าเทียมกับนานทุนหรือเปล่า หรือในทางการเมือง เป็นไปได้แค่ไหนที่คนงานจะไปสมัคร ส.ส. (โดยไม่ต้องรวมตัวกันเป็นพรรค) เอาแค่ค่าสมัครก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนแล้ว แต่ถ้าเป็นนายทุนสบายครับ เท่าเทียมกันไหม?
หรืออย่างยุคทาส แน่นอนย่อมไม่มีความคิดที่ว่าเจ้าทาสกับนายทาสเท่าเทียมกันแน่ๆ ดังนั้น "การสร้างสถานภาพที่ไม่เทียมกัน" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ส่วนการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" เท่าที่รู้ที่ไหนๆก็มี ประเทศทุนนิยมอย่างอเมริกาหรือทุนนิยมที่เกิดก่อนอย่างอังกฤษหรือที่ไหนๆก็มีรูปธรรมเช่นในโรงงาน (อีกแล้ว) มีตั้งแต่ผู้จัดการใหญ่-รอง-ผู้ช่วย ผู้จัดการฝ่าย/แผนก-รอง-ผู้ช่วย ไปจนถึงหัวหน้างาน-รอง-ผู้ช่วย (ซึ่งหัวหน้างานก็อาจจะมีการแบ่งย่อยไปอีกกี่ชั้นก็ได้) ไปจนถึงคนงานพื้นฐาน
ดังนั้นการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ด้วยเหมือนกัน
(แต่อันนี้อาจจะน่าสนใจกว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมตรงที่เราจะไม่เห็น "การแบ่งชั้นลดหลั่น" ในสังคมทั่วไปอย่างชัดเจน เราจะไม่รู้ชัดๆว่าใครสูงกว่ากันระหว่างครู หมอ ทนายความ แต่เราก็รู้ว่าเราอยู่ต่ำกว่าพวกที่ว่ามาทั้งสิ้น เราต้องเคารพเขา ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าใครบ้างที่อยู่ต่ำกว่าเรา)
ความเห็นของรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ในสังคมทุนนิยม มีแต่ "สถานภาพทางเศรษฐกิจ" ไม่มี "สถานภาพชนชั้นทางสังคม" ให้พิจารณาก่อน 2475 - หลัง 2475 - หลัง 2490 - หลัง 2500 - หลัง 2516 - หลัง 2535 - หลัง 2549
พิจารณาว่าเป็น "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งสืบทอดมาใยยุคทุนนิยมแบบไทยครับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ปลอดพ้น "อิทธิพล" แนวคิดดังกล่าว จะพบว่าพลเมือง มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า "เท่ากัน" แต่หมายถึงมีความเสมอภาคกันในกฎหมายมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้รับหลักประกันโดย "รัฐธรรมนูญ" ที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย
สังคมที่มี "จารีต" แบบศักดินา ใช้เวลายาวนานกว่าในการขจัด "แนวคิด" ดังกล่าวออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือในกรณีฝรั่งเศส การต่อสู้กันใช้เวลากว่า 80 ปี จึงทำให้จารีตแบบ "ราชาธิปไตย" หมดไปโดยพื้นฐาน ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 3" (กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1875) และกว่าจะสถาปนาระบบสาธารณรัฐที่มั่นคงได้ก็ในรัฐธรรมนูญ 1958 ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 5" ซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน 52 ปี
ลักษณะพิเศษของระบอบประชาธิปไตย 3 แบบ คือ สหรัฐอเมริกา - ฝรั่งเศส - และ - อังกฤษ มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีทั้งร่วมกันและแตกต่างกัน
นั่นคือ ผมกำลังพยายามตรวจสอบและค้นหา "รูปแบบเฉพาะ" ของสังคมไทย ที่เป็น "ประชาธิปไตย"
ก่อนอื่น ผมถือว่านี่เป็นการอภิปราย "ชนชั้น" ในบริบทของ "ไพร่" ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจัดลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ/การเมืองนะครับ แต่มีบริบททางวัฒนธรรมด้วย
การเกิดระบอบทาสผิวดำในสหรัฐมีความแตกต่างจากระบอบทาสในยุคทาส และไพร่/ทาสในยุคศักดินา/ราชาธิปไตย ในสหรัฐมี "นายทาส" ไม่มี "เจ้าทาส" ระบบชนชั้นแบบเศรษฐกิจทุนนิยม (ที่มีจุดกำเนิดที่สำคัญในสหรัฐ ที่พัฒนาควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม) จึงไม่มี "วัฒนธรรม" หรือ "จารีต"
การลุกขึ้นสู้ของ "คนงานหญิงชิคาโก" ที่นำโดยคลารา เซ็ตกิน จึงไม่ใช้การลุกขึ้นสู้ของ "ทาสกสิกร (serf)" และชนชั้นกลางล่าง/ผู้ใช้แรงงานในเมือง เช่นกรณีการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือแม้แต่คอมมูนปารีส 1871
ในกรณีประเทศไทย การหมดไปของ "ระบอบไพร่/ทาส" (2440-2448) จึงถือว่าพลเมืองเป็น "เสรีชน" การใช้บริบท "ไพร่ล้มอำมาตย์" จึงเป็นความผิดพลาด และก่อให้เกิดจุดอ่อนในการตอบโต้โดยฝ่ายปฏิกิริยา เพราะความหมายของ "ไพร่/ทาส" ของ "สยาม" ย่อมหมายรวมถึง "มูลนาย" และตัว "ระบอบ" สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เอง
การชูธงการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนว่าเป็น "ไพร่" จึงเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดประการหนึ่งในรูปการจิตสำนึก
นั่นคือผมเสนอ "ตำแหน่ง" ของฝ่ายประชาชนในขบวนประชาธิปไตยไว้ว่าเป็น "เสรีชน" ซึ่งลุกขึ้นสู้เพื่อ "สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค" ที่ถูกลิดรอนและ ปกปิดบิดเบือนแย่งยึดไปนับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา
เมื่อเป็นดังนี้ หมายถึงบริบท "เสรีชนสู้เพื่อเสรีภาพ" จึงมีขอบเขตกว้างกว่า และสามารถเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางชนชั้นในยุคการผลิตแบบทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสามัคคีประชาชนชั้นชนต่างๆได้ในวงกว้างมากกว่า "ไพร่ล้มอำมาตย์" ซึ่งไม่มีอยู่จริงแล้วในทางเศรษฐกิจและการเมือง มิหนำซ้ำยังส่งผลก่อให้เกิด "วาทกรรม" ที่ผิดพลาดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในฝ่ายประชาธิปไตยเอง และในฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
สำหรับประเด็นสถานภาพทางสังคม หรือ "แบบแผนการปฏิบัติต่อกัน" เข้าใจว่า น่าจะมีก็เฉพาะ "โฮจิมินห์" เท่านั้น ที่ใช้คำเรียกทั่วไปใน เวียดนาม (เหนือ) ก่อนชัยชนะในสงครามรวมประเทศ ว่า "ลุงโฮ" ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็น "ค่านิยม" ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสที่ควรได้รับการยกย่อง
คงไม่มีใคร แม้ในขบวนปฏิวัติประชาธิปไตย ที่คนอายุ 20 ปีเศษหรือน้อยกว่า/มากกว่า สนทนากับคนอายุ 5-60 ปี ด้วยคำพูดและอากัปกิริยาที่มองข้ามวัยวุฒิและรวมทั้งประสบการณ์อันอุดมกว่าของผู้สูงวัย หรือแม้แต่บทบาทหน้าที่/ความรับผิดชอบต่อภารกิจที่แบกรับ
ส่วน "ไอ้มืด" นั้น หากไม่นับพื้นฐานเดิมของรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐ ที่มีจารีต "ระบบทาสเกษตร/อุตสาหกรรม" ในยุคสร้างชาติแล้ว เนื้อหาของการ "เหยียดเชื้อชาติ" ลดน้อยถอยลงไปมากแล้วในสหรัฐ ถ้าจะมีก็คงเป็น "เศษเดนลัทธิเหยียดสีผิว" ที่รอเวลาการสิ้นสลายลงไป (ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็น "คนผิวดำ" ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดที่แล้วเป็น "สตรีผิวดำ")
ขอบเขตปริมณฑลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของรัฐชาติสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่มีพัฒนาการของจารีตเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นั้น มีความจำเป็นที่ต้องค้นคว้าทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้ง มากยิ่งกว่า "การชุมนุม" และการขึ้น "ปราศรัยปลุกระดม" ในทางที่มีเนื้อหาในทางให้การศึกษาทางการเมืองไม่สูง
การรวบรวมกำลัง ร่วมกันเป็นหน่วยมวลชนระดับต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการดำเนิน "กิจกรรม" ทางการเมือง
ความจำเป็นที่มวลมหาประชาชน จะต้องตระหนักถึงเป้าหมาย "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง" เป็นภารกิจเร่งด่วนเบื้องหน้าสถานการณ์ที่เข้าใกล้วาระสุกงอมที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ จากนั้นคำถามที่ว่า "แล้วจะทำกันอย่างไร" จึงเป็นความจำเป็นตามมาในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อไม่สามารถสร้างเอกภาพใน "เป้าหมาย" อย่างถูกต้องสอดคล้องกับขั้นตอนพัฒนาการความขัดแย้งทางการเมืองเสียแล้ว ขบวนประชาธิปไตยยิ่งลดความเป็นไปได้ที่จะสร้าง "ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี" ที่ถูกต้อง เพื่อขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นพลังหลัก และความสนับสนุนจากประชาชนวงการต่างๆที่ยังคงอยู่ในสถานะ "พวกฝ่ายกลาง"
แล้วประชาชนก็จะวนเวียนอยู่กับคำถามในหลายปีมานี้ที่ว่า "เมื่อไหร่จะชนะ" อยู่นั่นเอง.
การสนทนาผ่านเพจ Facebook ช่วงกลางวันวันที่ 5 กันยายน 2553