Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ

ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ


ในการเคลื่อนไหวของขบวนต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยมาตลอดหลายสิบปี มีข้อสรุปเล็กๆอย่างหนึ่งคือ ถ้าไม่พร้อม - พยายามอย่าถูกจับ หมายความว่าเราต้อง "รู้จัก" ที่จะขยับตัวในกรอบของ "รัด-ทำ-มะ-นูน" ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกรอบของ "กด-หมาย(หัว)" ที่ไม่เป็นธรรม ในระยะแรกอาจมีหลายคนหาทางแก้ไข/ช่วยเหลือ แต่การไม่มีกลุ่มแกนที่เข้มแข็งจริงจัง ไม่มีคนทำงานเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องเพียงพอ ผลที่สุด ประชาชนก็เกือบจะต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

ถึงเวลานี้ ไม่เพียงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี "ปลุกระดม" ที่ "แกนนำ" ไม่สามารถรับผิดชอบต่อเนื่องในผลอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกใน 3 ปีมานี้ ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็มีความจำเป็นต้องนำขึ้นสู่วาระเร่งด่วนของขบวนประชาธิปไตย

ก่อนอื่น ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามมาตลอด 2 ปี คือการขาดความใส่ใจในการพิจารณาประเด็น "ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ที่มักถูกยัดเยียดการตีความว่า "รู้ๆกันอยู่แล้ว" "ไม่จำเป็นต้องพูด" หรือที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้น คือ "พูดไม่ได้"

ถึงเวลานี้ หัวใจของการต่อสู้จึงต้องกลับมาทบทวนว่า "ประชาธิปไตย" ที่มวลชนนับล้านคนมีส่วนร่วมในขบวนแถวที่ประกาศว่าจะ "สร้าง" นั้น คือ "อะไร" ทั้งนี้ทั้งในลักษณะที่เป็นสากลที่นานาอารยะประเทศรับรอง และที่มีลักษณะเฉพาะ สอดคล้องกับสังคมไทย ทั้งในทางจารีต และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผ่านโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคไร้พรมแดนของ "โลกาภิวัตน์"

ประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย จำต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและหดหู่ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่เพียง 4 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และไม่เพียง 9 ปีหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 เราไม่เพียงไปไม่ไกลจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 หากถึงที่สุดแล้วการเมืองของประเทศนี้ถอยหลังไปไกลก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดย "นอมินีรุ่นต้นธาร - ผิน ชุนหะวัน" เสียด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้นคือ เราถูกทำลายวิญญาณประชาธิปไตยมาตลอด 63 ปี นับจากการ "กบฏประชาธิปไตย" หนนั้น และสถาปนา "ระบอบเผด็จการอำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" ต่อเนื่องมาโดยตลอด และถูกทำให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นหลังการรับประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์"

ระบบคิด ระบบปรัชญาประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามเมื่อ 78 ปีที่แล้วถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปทุกทีตามกาลเวลา

และแม้แต่การชูธง "รัฐธรรมนูญ" โดยเจตนาให้หมายความถึง "(สัญลักษณ์)ประชาธิปไตย" ก็เป็นประดุจ "หอกข้างแคร่" ทิ่มแทงความพยายามการสร้างประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนถูกทำให้เชื่อว่า มีรัฐธรรมนูญ (ที่ร่างโดยวิธีเผด็จอำนาจอย่างไรก็ได้) มีการเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะสกปรกโสมม ไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่ำช้าสมานย์เพียงใด) นั่นคือ ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว

ประชาชนยังจำแนกไม่ออก ว่า "เสียงส่วนใหญ่ให้ประชาทัณฑ์" ผู้ต้องหาคดีอาญานั้น ไม่ใช่และไม่มีวันใช่ "เสียงส่วนใหญ่ในปรัชญาประชาธิปไตย" แม้แต่น้อย

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใด... ตราบใดที่ทั้ง 2 บริบทนั้น ไม่มีรากฐานหรือจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

และนั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝ่ายประชาชนชนคือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นให้จงได้ ทั้งนี้ก็โดยการกำจัดอุปสรรคสำคัญเพียงประการเดียวในกระบวนการนี้ ที่เป็นเป้าหมายไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือ

"ระบอบเผด็จการ"

ทั้งนี้ประชาชนต้องตอบโจทย์ให้ได้ในเวลานับจากนี้ไป คือ ประชาธิปไตยคืออะไร และเหตุใดประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับระบอบการปกครองในโลกยุคโลกาภิวัตน์หลังสหัสวรรษ ส่วนจะสร้างอย่างไร หรือจะใช้วิธีการอย่างไหน/รูปแบบใด ซึ่งรวมเรียกว่า "ยุทธวิธี" ในการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยนั้น ยังมีความสำคัญรองลงไป หากต้องมีการพิจารณาต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนขบวนแถวประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักความเป็นธรรมเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศนี้ ความคิดชี้นำพื้นฐาน หรือรูปการจิตสำนึกของขบวน ต้องไม่อาจละทิ้งหลักการที่ว่า

"ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ".
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8