Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ระลึกแม่

ระลึกแม่ :
ระลึก 'เพลากิยา นิลอฟนา' ใน "แม่" ของ แม็กซิม กอร์กี้


ผมตั้งใจจะเขียนความทรงจำส่วนตัวถึงแม่ เฉพาะที่แม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งด้วยหัวจิตหัวใจรักความเป็นธรรมและรักความเสมอภาค มีน้ำใจต่อผู้คนที่แม่เห็นว่าต่ำต้อยน้อยหน้าในสังคม และอีกส่วนหนึ่งด้วยการกระตุ้นเร้าจากผมเองซึ่งเป็นลูกชายคนโตในลูกๆทั้ง 3 คน ของแม่กับพ่อ

ปี 2515 ลูกชายของแม่คนนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ (ทั้งที่ในตอนนั้นไม่มีใครแม้แต่ผมเองจะรู้ล่วงหน้าว่าผมจะหันหลังให้สถาบัน ที่ถือกำเนิดในยุครุ่งอรุณของประชาธิปไตยในประเทศนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับการ จากไปของแม่) โดยที่ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่ได้ถูกใจอะไรนัก แต่แม่ก็ดีใจออกนอกหน้ากับทุกผู้คนในโลกของแม่ เพราะแม่เรียนชั้นสูงสุดได้วุฒิแค่ "ประโยคครูมัธยม" หรือย่อว่า ป.ม. (อาชีวะ) แม่เรียนฝึกหัดครู ต่อจากเป็น "ลูกเซียงเงี้ยบฮ้อ" ในวังเดิมของ "เสด็จเตี่ย" นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ หมายความว่าแม่เรียนสายอาชีวะที่ "โรงเรียนพาณิชยการพระนคร" ซึ่งเพื่อนรุ่นเดียวกันที่แม่ภูมิอกภูมใจนักหนาคือ สมจินต์ ธรรมทัต ดาราเจ้าบทบาทและนักพากย์ภาพยนตร์ระดับหัวแถวของวิกบางขุนพรหม สถานีไทยโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ หรือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ยุคขาว-ดำ

แม้ว่าลูกชายคนนี้ขัดใจเล็กๆกับแม่ และอาจจะถึงขั้นเป็นที่ขัดเคืองของพ่อวิศวกรโยธาจากรั้วจามจุรี แต่ทั้งพ่อทั้งแม่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกชายคนนี้ตั้งใจแน่วแน่ขนาดไหน ที่จะได้เข้าไปศึกษากับสถาบันที่แรกสถาปนาในชื่อ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" โดยท่านผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 สายพลเรือน และหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ ผู้นำประชาชนผู้รักชาติลุกขึ้นต่อต้านอย่างลับๆ กับการรุกรานของกองทัพพระจักรพรรดิ ที่เกรียงไกรที่สุดในทวีปเอเชียในเวลานั้น ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

เด็กหนุ่มอายุ 18 กลับบ้านทุกวันพร้อมกับเรื่องเล่าถึงโลกแห่งการรับรู้ที่เปิดกว้างกว่าชีวิตเด็กมัธยมของประเทศในยุคเผด็จการครองเมืองต่อเนื่องมายาวนาน ลูกชายของแม่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มเสวนาอิสระในรั้วแม่โดม จนก้าวเข้าร่วมกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะสมาชิก "สภาหน้าโดม" รุ่นรองสุดท้าย เป็นการลิ้มรสชาติ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ในท่ามกลางผู้คนซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดก่อน มีความรอบรู้และประสบการณ์มากกว่าเกือบจะทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ในวงเสวนาย่อมๆที่ไม่เป็นทางการนั้น ทุกคนมีอิสระในความคิดเห็น และสามารถนำเสนอและโต้แย้งได้อย่างเต็มที่

ลูกคนนี้ของแม่พาตัวเองเข้าร่วมขบวนแถวนักศึกษาร่วมสถาบันในทุกรูปแบบ จากการร่วมมือของกลุ่มอิสระในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่นำโดย "กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่" และในธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะหลากหลายกว่า คือ "ชมรมนิติศึกษา" "กลุ่มเศรษฐธรรม" "กลุ่มผู้หญิง ม.ธ." และ "กลุ่มสภาหน้าโดม" คัดค้านฟุตบอลประเพณีที่ทำให้นิสิตนักศึกษา 2 สถาบันมีสภาพเป็น "อภิชน" ไปกลายๆ การคัดค้านการประกวดนางสาวไทย อันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์และมีลักษณะกดขี่ทางเพศสำหรับ "เพศแม่" ที่เวทีวังสราญรมย์ในปีนั้น

กว่าที่เรา - หมายถึงกลุ่มนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย - จะตระหนักว่า ทุกปัญหาในบ้านเมืองรวมศูนย์อยู่ที่การเมือง ก็ตกปลายปี 2515 นั้นเอง

วันที่ 12 ธันวาคม 2515 คณะปฏิวัติ (ตนเอง) ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ที่ "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะตุลาการ ซึ่งแต่เดิมประกาศศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการ ส่วนกรรมการตุลาการ 9 คนนั้น เฉพาะกรรมการที่คณะผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก 4 คน เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีเป็นผู้เลือก"

ในเวลาเพียงไม่กี่วัน นิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จัดให้มีการประชุมเป็นการด่วน ที่ห้อง "ชมรมนิติศึกษา" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เดินขบวนไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงการคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และเพื่อเป็นยืนยันด้วยการปฏิบัติ เรียกร้องให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศแสดงออกถึงการคัดค้านการก้าว ก่ายอำนาจอธิปไตย จากอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวภายใต้มติร่วมกันครั้งนั้น นำไปสู่การประท้วงที่มีลักษณะการเมืองครั้งแรกของนิสิตนักศึกษา นับจากการยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในยุคจอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมาถึงการรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ของหัวเรือใหญ่ในกลุ่ม "สามทรราชย์" - ถนอม กิตติขจร ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ยิ่งใหญ่

ถ้าความทรงจำของผมยังไม่ทรยศตัวเอง - เพราะผมจะไม่ตรวจสอบบันทึกความทรงจำชิ้นนี้ในเชิงวิชาการ - กลุ่มอิสระนอกเหนือจากจุฬา-ธรรมศาสตร์ข้างต้นแล้ว เรายังมี "สภากาแฟ" จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ชมรมคนรุ่นใหม่" จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในส่วนภูมิภาคก็มีการเคลื่อนไหวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกลุ่ม "วลัญชทัศน์" และมีนักศึกษาที่ยังไม่มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มก้อนเช่นจากมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมด้วย

พวกเราถกเถียงโต้แย้งแสดงความคิดเห็นกันนานนับชั่วโมง ก่อนจะมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ ให้มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ตลอดทั้งคืนของวันที่ 19 ธันวาคม 2515 ที่หน้าศาลยุติธรรม

แล้ว "แม่" ของผมมาเกี่ยวข้องตรงไหนหรือครับ .... แม่ผมที่หมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งทรวงอก "ต้อง" เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ลูกชายของแม่และเพื่อนอีกนับร้อยนับพัน กำลังจะก้าวออกไปต่อต้านอำนาจเผด็จการเป็นครั้งแรก เป็นการผ่าตัดที่ลูกชายคนโตไม่ได้เดินเคียงข้างเตียงเข็นไปสู่ห้องผ่าตัด

เราแม่ลูกได้พูดคุยทำความเข้าใจ และต่างให้กำลังใจในภารกิจและความจำเป็นของเรา ที่แต่ละฝ่ายล้วนต้องใช้จิตใจที่หาญกล้า เผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน จากนั้นก็อาศัยความผูกพันทางใจอย่างเดียวกันนั้น ส่งแม่เข้าห้องผ่าตัด ระหว่างออกไปร่วมกับเพื่อนๆ ร่วมชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐกันอยู่ตลอดคืน

ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และใช้ฉบับเดิมแทน การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เป็นแบบอย่างในการคัดค้านอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแห่งมาตรา 17 อีกต่อไป

สายสักหน่อยหลังการยุติการชุมนุม ผมกับเพื่อนหลายคน ข้ามเรือจากท่าพระจันทร์ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ทันทีที่แม่รู้ว่าผมไปถึงห้องพักผู้ป่วย แม่ลืมตาที่อ่อนระโหยจากการ "ผ่าตัดหน้าอก" ข้างหนึ่งที่มีเนื้อร้ายออกไป พร้อมกับคำถามที่ยังก้องอยู่ในโสตประสาทและความรู้สึกนึกคิดของผมตลอดเวลา 37 ปี ว่า...

"ชนะแล้วหรือลูก"

แม่ครับ... อนุญาตให้ลูกชายคนนี้หลั่งน้ำตาถึงแม่อีกสักครั้งหลังจากการจากไปของแม่ เมื่อต้นปี 2519 นะครับ.... และถ้ามีโอกาสอื่นนอกเหนือจากนี้ ผมจะบันทึกเรื่องของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ก้าวเข้ามาร่วมขบวนแถวประชาธิปไตย ร่วมกับลูกชายของแม่ และลูกชายหญิงอีกนับไม่ถ้วน เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ "เพลากิยา นิลอฟน่า" แม่ของ "พาเวล นิลอฟน่า" ตัวละครสำคัญในเอกวรรณกรรมเรื่อง "แม่" ของแม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่จากอาณาจักรรัสเซียเก่า ผู้มีส่วนร่วมในการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่เท่าที่อารยธรรมของมนุษย์จะรู้จักเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว.


โพสต์ครั้งแรก 11 สิงหาคม 2009, 23:48:53
http://www.newskythailand.us/board/index.php?topic=7072.msg22529#msg22529
ปรับปรุงใหม่
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=7072.msg22529#msg22529
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8