ข้อเสนอทบทวนและคำถามต่อทิศทาง
การเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตย
การเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตย
ผ่านไป 4 ปีกับ 3 เดือน นับจากวันอัปยศ 19 กันยายน 2549 "โจรกบฏ" ยังลอยนวล หน้าเชิด รวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดรับหน้าเสื่อ "รัฏฐาธิปัตย์" หรือบางทีอาจรวมไปถึง "ผู้บงการใหญ่" ยังเป็นที่เคารพนบไหว้จากผู้คนมากหน้าหลายตาที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้ง "รัด-ทำ-มะ-นูน 2550" หรือนัยหนึ่ง "กฎโจร" ซึ่งเต็มไปด้วยวาระแฝงเร้น ซุกซ่อนเนื้อหาระบอบเผด็จอำนาจ กลับมีความชอบธรรมกดหัวผู้รักสิทธิเสรีภาพ และเหนือสิ่งอื่นใด องค์กรทั้งในและนอกอำนาจอธิปไตย ยังคงลุแก่ธาตุแท้อำนาจนิยมและนโยบาย 2 มาตรฐาน ชำเราประชาชาติไทยไว้ใต้เงื้อมเงาทมิฬ
หากขบวนประชาธิปไตยที่เกิดและเติบโตขึ้นทั้งเก่าและใหม่ยังคงเฝ้าเดินตามรอยเส้นทางซ้ำซาก เพียงเปลี่ยนรูปแบบและโฉมหน้า บนเนื้อหาและจุดยืน และความคิดชี้นำ พร้อมกับประดิษฐ์วาทกรรมว่างเปล่าที่วนเวียนอยู่ในเขาวงกตของ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์"
การ ผูกขาดแนวทางที่เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู การกีดกันระบบความคิดที่เรียกร้องให้มีการการสรุปบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอให้สำรวจจุดยืนและหลักนโยบายของการนำที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการนำโดยการแสดงออกอย่างชัดเจนมาโดยตลอด กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเพื่อให้จุดยืน "ซุกขยะใต้พรม" ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
ข้อกล่าวหาแทบจะทุกข้อกล่าวหาจากฝ่ายปฏิกิริยาปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสร้างขึ้นบนความกำกวม ไม่ชัดเจน และแฝงนัยของการนำในบางระดับ ซ้ำเติมด้วยแนวคิดบนพื้นฐานการปั้นความหวังและกำลังใจเลื่อนลอย รวมทั้งนโยบายเฉพาะหน้าที่ปราศจากเป้าหมายหลักและจุดยืนอันชัดเจน ไม่ขึ้นต่อสถานการณ์ และขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อมูลที่มีความรอบด้าน และรวมถึงการรับฟังมวลชนรอบข้างอย่างเพียงพอ
ผลก็คือ ขบวนประชาธิปไตยประชาชนยังไม่อาจละสายตาจากปลายจมูก เคลื่อนไหวเฉพาะบริบทรอบนอกขอบเขตปริมณฑลของระบอบประชาธิปไตย ยังไม่อาจสร้างความชัดเจนในการให้ความรู้ ความเข้าใจอันเป็นการสร้างรากฐานทางความคิดและจุดยืนอย่างถึงที่สุดแก่มวลชนในส่วนที่ตื่นตัว ที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงและมีความต้องการเข้าร่วมซึมซับรับเอาประสบการณ์จริงของการลุกขึ้นประกาศตัวร่วมสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในปิตุภูมิ
ทุกวันนี้ คำถามพื้นฐานถูกเพิกเฉย กลบเกลื่อน กีดกัน ปกปิดบิดเบือน มิหนำซ้ำประเด็นที่ล่อแหลมหมิ่นเหม่ กลายเป็นวิวาทะหลักในหลายกาลเทศะอย่างไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาสำนึก มากไปกว่าตอกย้ำความมีสายตาคับแคบทางการเมือง มิหนำซ้ำยังวนเวียนอยู่เพียงการชูเฉพาะประเด็นตัวบุคคลจนกลายเป็นมีความสำคัญเหนือกว่าระบบ
ในเวลา 3 ปีมานี้ คำถามถึงอำนาจอธิปไตย กลับถูกลดความหมายลงเพียงแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมและการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีลักษณะเผด็จอำนาจ
การนำที่ปฏิเสธการนำ หากแต่มีแสดงออกอย่างชัดเจนและในทุกรูปแบบ และยิ่งไปกว่านั้น การพยายามปฏิเสธความคิดชี้นำ ทั้งที่มีการกระทำอย่างมีนัยตลอดเวลา ให้แพร่ขยายไปในหมู่มวลชน ส่งผลต่อการมองข้ามข้อเสนอ "แปรเปลี่ยนพลังมวลชนประชาธิปไตยจากทรายร่วนให้เป็นดินเหนียว" นั่นคือกิจกรรมจำนวนมากมากยังล้อมรอบทิศทางการเคลื่อนไหวใจกลางที่ปราศจากเป้าหมายหลักในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
นั่นคือการจัดกิจกรรมจำนวนมากมายที่ปราศจากเป้าหมายหลัก ล้วนแล้วแต่เป็นการเคลื่อนไหวเพียงบางบริบทล้อมรอบ โดยละเลยการมุ่งเข้าสู่ภารกิจใจกลางในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ถึงเวลานี้ ฝ่ายนำทุกระดับ ทุกองค์กรแนวร่วม และกระทั่งมวลชนที่ก่อรูปเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว ต้องตอบโจทย์จุดยืนและทิศทางที่ชัดเจนได้แล้วว่าจะขับเคลื่อน "ขบวนประชาธิปไตยประชาชน" ไปสู่ "การเลือกตั้ง" หรือไปสู่ "การสร้างประชาธิปไตย"
การเคลื่อนไหวใหญ่ของฝ่ายประชาชน 4 ครั้ง ชั่วเวลากว่า 3 ทศวรรษ นับแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนได้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่นำไปสู่การปราบปราม 6 ตุลาฯ; ตามมาด้วย เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ’35 ประชาชนได้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ 2540 บนพื้นฐานแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ที่จบลงโดยการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ; จนมาถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมในเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 เรียกร้องการลาออกของประธานองคมนตรี นำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายด้วยความรุนแรง; และล่าสุดการชุมนุมเรียกร้องการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 นำมาซึ่งการสังหารหมู่ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม
การเสียสละชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าของวีรชนประชาชนเหล่านั้น เพียงแลกได้มาซึ่งบางบริบทของประชาธิปไตย นั่นคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ไม่เคยมีความชอบธรรม
ดังนั้นเพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเร่งทำความเข้าใจและสรุปสถานการณ์นับจากอดีต ประมวลผล และที่สำคัญที่สุดคือการ ประเมินสภาวการณ์ที่เป็นจริงของพลังทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เท่านั้น จึงจะส่งผลให้ข้อเรียกร้องมาตลอด บรรลุผลในทางเป็นจริงได้ นั่นคือข้อเรียกร้องที่ว่า "เลือดวีรชนต้องไม่ไหลเปล่า"
หลัง ความเจ็บปวดและความทรงจำลึกซึ้ง จากการสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 ขบวนประชาธิปไตยประชาชนก็ขับเคลื่อนไปวันต่อวัน สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ขบวนแถวที่ผู้คนมองเห็นแต่ฝูงชนเป็นกลุ่มก้อน คลุกเคล้าเข้าด้วยอารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน พูดจาไปในทิศทางเดียวกัน กับเรื่องราวเฉพาะหน้า กับเป้าหมายรูปธรรมเฉพาะหน้า สิ่งที่ยังคงขาดหาย คือ "การใส่ใจ" ที่จะรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ใน "ความเห็นที่แตกต่าง" ออกไป รวมทั้งที่เริ่มตระหนักการวิเคราะห์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
จนถึงเวลานี้ ในประเทศนี้ยังไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่า "แนวร่วมแห่งชาติ" ที่มีเป้าหมายเป็นเอกภาพชัดเจน ทั้งในรูปแบบความคิดทางประชาธิปไตย และทั้งที่เป็นเค้าโครงรูปการปกครองที่กำลังฟันฝ่าให้ได้มาก น่าเสียดาย ที่หลายคนยังคงยืนยันว่า "งวงคือช้าง" ขณะที่อีกหลายคนประกาศหนักแน่นว่า "งาคือช้าง" หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ "หางคือช้าง"
จากประสบการณ์ความเจ็บปวดชอกช้ำในความเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด 2 ปี บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเสื้อแดง จะต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อจะค้นพบให้ได้ว่า "ช้างประชาธิปไตย" มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นองค์รวมอย่างไร.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน